ศาลรัฐธรรมนูญ+ผู้ตรวจการแผ่นดิน vs การเลือกตั้ง’57

ศาลรัฐธรรมนูญ
ที่มา : รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคน โดยมีที่มาจากเป็น หนึ่ง) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 3 คน สอง) ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสูดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน และ สาม) คณะกรรมการสรรหาอันประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน) ร่วมกันสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ 2 คน และรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น อย่างละ 2 คน
อำนาจหน้าที่ : มีอยู่ 9 ประการ คือ
หนึ่ง) วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนที่จะบังคับใช้ หาก ส.ส. และ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก แล้วให้ประธานสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือ นายกรัฐมนตรีส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
สอง) วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ที่ประกาศบังคับใช้แล้ว กล่าวคือกรณีที่ พ.ร.บ.ได้ประกาศบังคับใช้แล้ว หากต่อมาปรากฏว่ากฎหมายนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 4 กรณี คือให้ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่นๆ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ยื่นคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ
สาม) วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด หาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก และให้ประธานสภานั้นส่งความไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
สี่) วินิจฉัยว่า ส.ส. ส.ว.หรือ กรรมาธิการ กระทำการใดเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ หาก ส.ส. และ ส.ว. มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา
ห้า) วินิจฉัยปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป
หก) วินิจฉัยมติหรือข้อบังคับของนักการเมือง การพิจารณาอุทธรณ์ ส.ส.และการวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีที่โดดเด่นเป็นรูปธรรม คือ การที่มีผู้ทราบว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 มีสิทธิยื่นให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เจ็ด) วินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา หาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก ให้ประธานสภานั้นส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือหากคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิก ส.ส. และ ส.ว.คนใดสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานของสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานสภานั้นส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
แปด) วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ หาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หากเห็นว่าหนังสือสัญญาใดที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน และเสนอต่อประธานสภาที่สังกัดอยู่ แล้วประธานสภานั้นๆ ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เก้า) อำนาจหน้าที่ตามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 เช่น วินิจฉัยชี้ขาดสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยเกี่ยวกับการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง วินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง และวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นต้น
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ที่มา: รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนสามคน โดยการสรรหาของคณะกรรมการเจ็ดคน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน
อำนาจหน้าที่ : มีอยู่ 4 ประการ คือ
หนึ่ง) พิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องในสามกรณี คือ (ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ  (ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนโดยไม่เป็นธรรม (ค) การละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม
สอง) ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
สาม) ติดตามประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ สี่) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกปี
นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวข้องกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และอาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่ กฎ คำสั่ง หรือการกระทำใดของเจ้าหน้าที่รัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเสนอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะไม่ได้
ในการพิจารณาวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญอ้างอำนาจในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ผ่านการเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 245(1) ที่ว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ…” ในกรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เห็นว่า กกต. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งครั้งนี้
                        "มาตรา 245 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้
                        (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วย    ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
                        (2) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา 244(1)(ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ  ด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง"
ทั้งที่อำนาจตามมาตรา 245(1) ของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นคือ การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ "กฎหมาย" แต่กรณีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ "การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57" ซึ่งเป็น "การปฏิบัติตามกฎหมาย" ไม่ใช่ "กฎหมาย" เท่ากับว่าผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังทำเกินอำนาจหน้าที่ตามมตรา 245(1) อยู่ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา
อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีอยู่ในการตรวจสอบการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57  คือ การยื่นให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการเลือกตั้งทีเกิดขึ้นไปแล้วต่อ "ศาลปกครอง" ตามมาตรา 245(2) ไม่ใช่ยื่นต่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตามมาตรา 245(1) หรือผู้ตรวจการแผ่นดินอาจใช้อำนาจตามมาตรา 244(1)(ก) ว่า “การตรวจสอบการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม…”  เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการเอาผิดกับ กกต. เนื่องจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังที่เห็นจากการพยายามเลื่อนการจัดการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า
ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัย ให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะ จึงน่าจะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาในเรื่องนี้เช่นกัน
ศาลรัฐธรรมนูญ มั่วกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง
คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ เพราะมิได้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร โดยพบว่ามีอีก 28 เขตเลือกตั้ง ยังไม่มีผู้สมัคร และถ้าหากมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นหลังจากนั้นก็ไม่สามารถกระทำการเลือกตั้ง เพราะไม่ได้เป็นการจัดการเลือกตั้งวันเดียวกัน จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 นั้น ก็น่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง [ดูรายละเอียดคำวินิจฉัยเพิ่มได้ตามไฟล์แนบ]
                  
                          "มาตรา 108 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
                           การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
                          การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน"
เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ทุกประการแล้ว คือ กำหนดให้ทั้งประเทศเลือกตั้งในวันเดียวกัน แต่หลังจากออกพระราชกฤษฎีกาแล้ว มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดย กปปส. กระทำการขัดขวางการเลือกตั้งทุกวิธีทาง นับตั้งแต่ การขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง การขโมยหีบบัตรเลือกตั้ง การทำลายบัตรเลือกตั้ง การขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้อื่นทั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นได้ภายในวันเดียว
การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้โดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ทางปฏิบัติไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามนั้นได้เพราะมีกลุ่มคนมาขัดขวาง ย่อมไม่ทำให้ความถูกต้องของการออกพระราชกฤษฎีกาเสียไป มีแต่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยจะต้องเร่งบังคับให้สามารถปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่า ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นภายหลังเป็นเหตุให้กฎหมายที่ออกมาก่อนนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปเสีย
นอกจากนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. การขัดขวางการเลือกตั้งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 และการชุมนุมเรียกร้องที่จะจัดการปกครองด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญก็เป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ยอมวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองหลักการในรัฐธรรมนูญจากกลุ่มคนเหล่านี้ ในขณะที่การเลือกตั้งซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 72 และเป็นการใช้สิทธิโดยสงบของประชาชนเพื่อมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศกลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากศาลรัฐธรรมนูญ 
การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่สร้างข้อกังขาขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่สั่งให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะ นั้น เป็นเหตุให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังเป็นองค์กรที่กระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง การยกเอารัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ มาใช้อ้างเอาผิดผู้อื่นอย่างแปลกประหลาด เช่น การอ้างหลักนิติธรรมตามมาตรา 3(2) เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำอยู่ การใช้อำนาจจากการลงมติด้วยเสียงข้างมากตามอำเภอใจโดยไม่สนใจหลักกฎหมายเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็กำลังทำตัวไม่ต่างจากการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของกลุ่มนักเลือกตั้ง
ไฟล์แนบ