วิธีเอาผิดนักการเมืองโกง (ตามกฏหมาย)

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไทยเป็นหนึ่งในการเรียกร้องหลักเพื่อการปฏิรูปประเทศของ กปปส. ขณะที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่มากกว่านักการเมือง และเป็นปัญหาที่เกาะกินสังคมไทยเรื้อรังมานานถึงเวลาต้องปฏิรูปเสียที 
ก่อนมุ่งหน้าปฏิรูป คงต้องมาสำรวจกันให้เข้าใจก่อนว่า ระบบป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบการจัดการกับ 'นักการเมือง' ที่มักถูกกล่าวหาเสมอว่า ‘ขี้โกง’ ที่สุด
เมื่อส่องไปที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2550 ในฐานะกฎกติกาพื้นฐานที่กำหนดความสัมพันธ์ทางการปกครอง พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก ดังจะเห็นว่าในหมวด 11 และ หมวด 12 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้มีองค์กรต่างๆ สำหรับปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เช่น คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ ถอดถอนจนถึงดำเนินคดีอาญา
 
วิธีการเอาผิดนักการเมืองโกง
ในการเอานักการเมืองโกงมาลงโทษ ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวของ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เปิดช่องดำเนินการเอาผิดกับนักการเมืองไว้หลายช่องทาง ซึ่งมีกระบวนการที่นำไปสู่ทั้ง การถอดถอน และ การดำเนินคดีอาญา 
ช่องทางแรกเมื่อเราเห็นนักการเมืองโกง ในฐานะประชาชนตาดำๆ เราสามารถรวบรวม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,000 คน เพื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองผู้นั้นต่อ ประธานวุฒิสภา จากนั้นประธานวุฒิสภาจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน หากไต่สวนแล้วพบว่ามีมูลความผิด ให้ ป.ป.ช. ก็จะต้องทำสองอย่าง คือ  (1) ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา เปิดประชุมวุฒิสภาพิจารณาถอดถอนโดยการถอดถอนต้องใช้คะแนนเสียงของ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด และ (2) หากเป็นกรณีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ต้องส่งเรื่องให้ อัยการ เพื่อส่งฟ้องคดีต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินคดีเพื่อเอาผิดและลงโทษตามกฎหมาย  
อีกช่องทางที่คล้ายกัน คือเริ่มต้นโดย ส.ส. เข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมดสามารถยื่นถอดถอนโดยใช้กระบวนการเดียวกันกับประชาชน 
ผู้ที่อยู่ในข่ายอาจถูกกระบวนการนี้ถอดถอนได้ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด เป็นต้น ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงตำแหน่งทางราชการระดับสูงอื่นอีก เช่น กรรมการองค์กรอิสระ ผู้พิพากษา ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และข้าราชการระดับสูง ซึ่งระบุอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของ ป.ป.ช.
นอกจากนี้ ประชาชนตัวเล็กๆ เพียงคนเดียวก็สามารถทำได้โดยการแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตฯ ผ่าน ป.ป.ช. หรือ ร้องเรียนต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องยื่นผ่าน ป.ป.ช. อีกที) ทั้งนี้หากหน่วยงานทั้งสองพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตฯ ก็สามารถดำเนินการเองได้โดยมิต้องมีผู้ร้องเรียน หากไต่สวนแล้วพบว่าคดีมีมูลจึงส่งเรื่องให้ อัยการสูงสุดและประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินคดีอาญาและถอดถอนตามขั้นตอนที่ได้กล่าวไปข้างต้น
สำหรับ ผู้เสียหาย ที่ได้รับความเสียหายจากการทุกจริตคอรัปชั่นโดยตรง ก็สามารถยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตามขั้นตอนปกติ หรือสามารถใช้วิธียื่นคำร้องต่อ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา รับเรื่องก็จะตั้ง ผู้ไต่สวนอิสระ เพื่อไต่สวนซึ่งหากมีมูลก็ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไปได้เหมือนกัน หรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะใช้ช่องทางส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. ก็ได้
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่สำคัญมากเพราะในช่องทางการดำเนินการต่างๆ ทั้งถอดถอนและดำเนินคดีอาญา โดยในขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาที่จะต้องส่งเรื่องต่อให้อัยการสูงสุดนั้น หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการยื่นฟ้องเองได้ 
จะเห็นว่ากระบวนการเกี่ยวกับการปราบปรามคอรัปชั่นในแวดวงนักการเมืองนั้นกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนไว้ค่อนข้างมาก เพื่อปิดช่องว่าง และเพิ่มช่องทางการเอาผิดให้เป็นไปได้มากที่สุดแล้ว โดยเปรียบเทียบสถาบันนักการเมืองเป็นสถาบันที่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจค่อนข้างเข้มข้นเมื่อเทียบกับสถาบันทางสังคมอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น ทหาร ศาลยุติธรรม ศาสนา เป็นต้น
หลังจากเห็นภาพรวมของกระบวนการป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยแล้ว ก็อาจทำให้เห็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอันเป็นเหตุให้นักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นยังลอยนวลอยู่ในสังคมได้ ซึ่งทางกลุ่มกปปส.ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เสนอแก้ไขระบบดังกล่าว เช่น เสนอแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนสามารถฟ้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดโดยตรง เสนอให้คดีทุจริตฯ ไม่มีการหมดอายุความ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ยังมีข้อน่าสังเกตอยู่บ้าง ดังจะกล่าวในบทต่อไป 

 

ไฟล์แนบ