‘จับมั่ว-จับไม่เลือก’ มองสถานการณ์ฉุกเฉินปี 57 จากบทเรียน พฤษภา 53

หลังกลุ่มกปปส.ประกาศ SHUT DOWN กรุงเทพฯ เพียงสัปดาห์เดียว รัฐบาลก็ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ให้มีผลเป็นเวลา 60 วัน นับตั้งแต่ 22 มกราคม 2557 เป็นต้นไป เพื่อให้มีอำนาจเข้าจัดการกับเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันได้อย่างทันท่วงที แต่การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนทั้งที่มาร่วมชุมนุมและที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีมาตรการจำกัดสิทธิหลายอย่าง เช่น ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามชุมนุมมั่วสุม ห้ามใช้เส้นทางการคมนาคมที่กำหนด ฯลฯ
นอกจากจำกัดสิทธิของประชาชนหลายอย่างแล้ว การประกาศให้เป็น ‘สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง’ ยังหมายความว่ารัฐบาลอาจประกาศให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม ตรวจค้นตัวบุคคล ตรวจค้นบ้าน ตรวจสอบจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ โทรศัพท์ โทรสาร ปิดสื่อ หรือใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ด้วย 
หากยังจำกันได้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงรัฐบาลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไม่ต่างจากตอนนี้ ครั้งนั้นมีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน มีการประกาศเขตใช้กระสุนจริง ซึ่งกระทบต่อประชาชนทั้งที่เป็นผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมจำนวนมาก จนเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการ 'ขอคืนพื้นที่' จากผู้ชุมนุม ก็ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ จำนวนมาก และมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินนับพันราย
iLaw พูดคุยกับสรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ อดีตฝ่ายข้อมูล ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงปี 2553 โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 
สรวุฒิกล่าวถึงตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีไว้อย่างน่าสนใจว่า เอาแค่ความผิดเบาๆ อย่างการออกนอกเคหสถาน มีตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีสูงถึง1,089 คน และฐานชุมนุมมั่วสุมอีก 609 คน
ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน และรัฐบาลประกาศ "เคอร์ฟิว" เพียงแค่การออกจากบ้านในช่วงเวลาที่กำหนดก็เป็นความผิดแล้ว โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือเกี่ยวข้องกับความไม่สงบที่เกิดขึ้นหรือไม่ ประกอบกับอำนาจการจับกุมตรวจค้นที่ทหารและตำรวจมีอย่างล้นเหลือ ก็น่าสงสัยว่าคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินนับพันคดีนั้นเกิดจากการทำงานอย่างสุจริตไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่
สรวุฒิเล่าให้ฟังว่า มีคดีหนึ่งในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ที่ตัวจำเลยไปชุมนุมและถูกถ่ายภาพตั้งแต่ก่อนวันที่ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแล้วก็ไม่ได้ไปอีก แต่หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ไปหาเขาที่บ้าน นำภาพถ่ายเป็นหลักฐานจับกุมเขาในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย
กับอีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มีคนออกมาเซเว่นแล้วถูกตำรวจจับ ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฐานออกนอกเคหสถานในระยะเวลาที่ประกาศห้าม ทั้งๆ ที่ในจังหวัดสมุทรปราการขณะนั้นก็ไม่มีสถานการณ์ที่รุนแรงอะไรเลย แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นครอบคลุมหลายพื้นที่
“จากคำบอกเล่าของกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี กลุ่มที่ถูกซ้อม หรือมีการจับกุมโดยใช้แค่รูปถ่ายในการชุมนุมมาฟ้องข้อหาทำลายทรัพย์สินวางเพลิงก็เยอะ นอกจากนี้ก็มีปัญหาการจับกุมแบบยัดข้อหายัดของกลาง อย่างกรณีคนที่เข้าไปช่วยคนเจ็บที่ปั๊มน้ำมันตรงราชปรารภวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเขาบอกว่าไม่ได้มาชุมนุม เพียงแต่ไปดูเหตุการณ์ รายนี้โดนยัดข้อหาว่ามาชุมนุม พอไปถึงโรงพักก็มีของกลางวางรออยู่บนโต๊ะ โดนอีกข้อหาคือมีอาวุธ ติดคุกไปปีนึง” สรวุฒิเล่า
กรณีที่ยกมานี้น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่บ่งบอกถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี ซึ่งในสถานการณ์ที่วุ่นวายก็ย่อมมีทั้งที่ทำไปโดยสุจริตและบางครั้งก็กระทำเกินกว่าเหตุ ผู้ถูกละเมิดสิทธิไม่เพียงเป็นผู้ชุมนุม แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอีกด้วย สรวุฒิเล่าว่า จากปากคำผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีไม่น้อยที่เป็นเพียงคนเดินผ่านไปผ่านมาในบริเวณที่ชุมนุมแล้วถูกจับกุม
“ถ้าลิสต์รายชื่อตัวอย่างกลุ่มคนที่ถูกกระทำเกินอำนาจหน้าที่นี่ยาวเป็นหางว่าวเลย แต่ปัญหาคือเคสพวกนี้ไม่มีการฟ้องกลับ มันเลยไม่เคยถูกพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเปล่า เพราะตอนนั้นพวกทนายที่รับเรื่องไม่คิดว่าจะฟ้องกลับได้ อีกอย่างมันยุ่งยาก บางคนรับสารภาพไปแล้ว ปัญหาใหญ่ของคดีเหล่านี้คือส่วนใหญ่รับสารภาพ ปัญหารองคือพวกคดีที่ยังไม่จบก็ยังเยอะ ส่วนคนที่หลุดมาแล้วก็ไม่สู้ เพราะคนที่โดนคดีส่วนใหญ่ไม่มีเงินจ้างทนาย”
“คือพวกนี้ทำนอกอำนาจหน้าที่ทั้งนั้นแต่ไม่มีหลักฐานเพื่อฟ้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ มีแต่คำบอกเล่าของผู้เสียหาย” สรวุฒิกล่าว
แม้ว่าตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 จะไม่ตัดสิทธิที่ผู้เสียหายจะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินกว่าเหตุ แต่ด้วยเหตุผล ‘ยุ่งยาก ไม่มีเงินจ้างทนาย’ ก็เป็นเหตุผลสำคัญของประชาชนธรรมดาเสมอ และเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไม่มีหลักฐาน มีแต่คำบอกเล่าของผู้เสียหาย ดังนั้นการพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่คนใดๆ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
เมื่อให้ลองประเมินสถานการณ์การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ว่าจะมีการจับมั่วจับไม่เลือกหน้าเหมือนปี 2553 หรือไม่ สรุวุฒิตอบว่า “ไม่ หมายถึงในแง่ที่กลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมนะ ชาวบ้านอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ผู้ชุมนุมที่เข้าๆ ออกๆ ก็คงโดนบ้างไม่มากก็น้อย”
“เข้าใจว่าช่วงนี้ยังใช้ตำรวจคุมอยู่ แต่จากเหตุการณ์ช่วงที่ผ่านมาเราก็เห็นว่ามันมีตำรวจเล่นนอกเกมอยู่บ้าง ก็ไม่รู้จะมีการเอาคืนกันหรือเปล่า การเลือกใช้ทหารกับตำรวจก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต่างกัน เพราะตอนนั้นรัฐบาลก็เลือกจะใช้ทหารเอง แต่ทหารไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่องานควบคุมการชุมนุม และสถานการณ์ก็ต่างกันด้วย ตอนนั้นเป้าหมายการถูกก่อกวนก็เป็นเจ้าหน้าที่ คิดว่าสถานการตอนนั้นมันส่งเสริมให้เกิดการจับดะไม่เลือกหน้าด้วย ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้น แม้ว่าสถานการจะเป็นอย่างนั้น” สรวุฒิให้เหตุผล
มีหลายความเห็นที่กล่าวว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจนำไปสู่ความรุนแรง เรื่องนี้สรวุฒิให้ความเห็นว่า “ก็ยังประเมินไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์อย่างกรณีปาระเบิดจะมีอีกมากน้อยแค่ไหน เมื่อไหร่  เพราะถ้าไม่มีสถานการณ์ลักษณะนี้แค่ที่เป็นอยู่คือแค่การชุมนุมไปเดินขบวนปิดสถานที่ราชการ ไปท้าทายตำรวจที่ สตช. คิดว่ามันไม่ใช่ปัจจัยแต่แรกที่รัฐจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็คิดว่าถึงมีเหตุปาระเบิด กฎหมายปกติที่มีใช้กันอยู่ก่อนมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินก็จัดการได้แล้ว”
สรวุฒิให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงเรื่องนี้ด้วยว่า “ถึงมีการปาระเบิดก็ไม่จำเป็นต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะก่อนมีประกาศ พ.ร.ก ฉุกเฉิน มันก็มีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงอยู่แล้ว และช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาที่มีเหตุการณ์ยิง หรือปาระเบิด ก็เห็นได้ว่าตำรวจเองก็มีการติดตามจับกุมอยู่แล้วด้วย แสดงว่าแม้ไม่มีการประกาศใช้ ตำรวจก็ยังทำงานได้อยู่”
“อีกอย่างการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา มันก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่จะจัดการด้วยกระบวนการปกติไม่ได้ แล้วการประกาศ พ.ร.ก. ก็คงไม่ช่วยป้องกันการลอบทำร้ายแบบนี้อยู่แล้ว”
เป็นความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ ของคนที่ทำงานติดตามผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งอาจถือเอาเป็นบทเรียนหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ แม้ว่าการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพ.ศ.นี้จะแตกต่างจากพ.ศ. 2553 อยู่บ้าง ทั้งเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมและความแตกต่างของสถานการณ์ แต่ก็ไม่อาจประมาทได้ว่า เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น มีการใช้ทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ จะไม่เกิดกรณี ‘จับมั่ว-จับไม่เลือก’ เหมือนปี 2553 อีก
หากเป็นอย่างนั้น สิทธิของของประชาชนภายใต้กฎหมายความมั่นคงก็ไม่น่าจะเรียกได้ว่า ‘มีความมั่นคง’ อีกต่อไป