คดีการชุมนุมที่หนองแซง: สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ถูกกดทับด้วยกฎหมายลูก

วันที่ 24 ตุลาคม 2556 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีการชุมนุมปิดถนนพลหโยธินเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและบ่อบำบัดขยะที่ศาลจังหวัดสระบุรี โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษนายคูณทวี ภาวรรณ์ นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และนางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง ฐานกระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร กับฐานกระทำการปิดกั้นทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะ ฐานจอดรถกีดขวางทางจราจร และฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี (รอลงอาญา) ปรับ 6,200 บาท

[อ่านรายละเอียดคดีย้อนหลังได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/493]

หลังฟังคำพิพากษา iLaw ได้สัมภาษณ์นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเขตอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และจำเลยที่สามในคดี เพื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาและแนวทางการต่อสู้ในอนาคต
จากคำพิพากษาที่ศาลลงโทษ หลังจากออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า คิดอย่างไรต่อเรื่องนี้
ตี๋: ในสังคมไทย รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ถูกละเลยไม่มีการหยิบยกขึ้นมาใช้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นอ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการชุมนุมที่ชัดเจน ขณะที่คำพิพากษาของศาลฎีกาก็ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยตีความหรือบัญญัติเรื่องการชุมนุมเอาไว้ การใช้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปอย่างจำกัด อาจจะเป็นด้วยการขาดความรู้ความเข้าใจของเจ้าพนักงาน ซึ่งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็คงต้องสู้กันอีกนาน
 
แล้วคิดว่า หากมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมจะช่วยแก้ปัญหาความคลุมเครือที่มีอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่
ตี๋: เท่าที่เคยเห็นร่างพรบ.การชุมนุม มองว่าการออกกฎหมายนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสียมากกว่า และอาจจะไม่ต่างจากคดีนี้ที่ศาลฎีกาพิพากษาว่ามีการละเมิดพรบ.ทางหลวงและกฎหมายควบคุมการใช้ครั้งเสียง ด้วยการปิดถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็มีคำถามว่า จะให้เราไปขออนุญาตใคร อีกทั้งการชุมนุมก็ถือเป็นการคานอำนาจรัฐ ต่อให้ไปขออนุญาตก็คงไม่ได้รับอนุญาต
ในหลายๆ พื้นที่ ต้องมีการขออนุญาตใช้ก่อนเครื่องขยายเสียง แต่ถ้าเป็นการใช้แบบชั่วครั้งชั่วคราวก็มักจะไม่มีการขออนุญาต ในคดีนี้ มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยามยามตั้งข้อหาให้มากที่สุด เพื่อเป็นการกำหราบประชาชน ไม่ให้ลุกขึ้นมาแข็งขืนกับอำนาจรัฐ
จากคำพิพากษาที่ศาลฎีกาสั่งลงโทษผู้ชุมนุม คิดว่าในอนาคต ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโครงการขนาดใหญ่ จะยังคงต่อสู้ด้วยการชุมนุมอีกหรือไม่
ตี๋: ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าถูกกำหราบ จะสู้ต่อไป เพราะรัฐยังไม่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน การอนุมัติโครงการต่างๆ ยังคงเป็นไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ เพียงแต่อาจจะต้องหาวิธีต่อสู้ใหม่
ในการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ มีโอกาสหรือสิ่งที่เป็นด้านบวกอยู่บ้างไหม
ตี๋: ก็พอจะมีอยู่บ้าง ในเรื่องของข้อกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยตีความหรือให้คำจำกัดความเรื่องการชุมนุมตามมาตรา63 ศาลจึงใช้กฎหมายมาตราอื่นๆ มาประกอบการวินิจฉัยแทน จึงคิดขึ้นมาได้ว่า น่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องนี้
ในเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว รู้สึกว่าได้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม แม้จะยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในวันนี้ แต่การต่อสู้ต้องดำเนินต่อไป
ที่ผ่านมาได้พบเห็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย รู้สึกไม่สบายใจที่ศาลให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานของตำรวจมาก โดยอ้างว่าตำรวจไม่มีส่วนได้เสียกับคดีและมีความเป็นกลาง ข้อนี้ส่วนตัวเห็นว่า ที่จริงตำรวจเองก็มีผลประโยชน์ผูกพันกับกลุ่มทุน เช่นได้รับบริจาคเครื่องใช้สำนักงาน รถยนต์ หรืออาคารสถานที่จากกลุ่มทุน โดยจะมีชื่อของกลุ่มทุนผู้บริจาคพิมพ์ไว้บนของบริจาคด้วย สิ่งนี้แสดงให้ว่าความยุติธรรมมีปัญหาตั้งแต่ต้นคือตั้งแต่ชั้นตำรวจ
นอกจากเรื่องนี้แล้ว การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีความจริงจัง มีการอนุญาต (การตั้งโรงงาน) โดยไม่รับผิดชอบ จะเห็นได้ว่ารัฐไม่สามารถควบคุมกลุ่มทุนได้แต่ก็อนุญาตให้สร้างโรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยให้กลุ่มทุนดูแลกันเอง ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในเรื่องอำนาจหน้าที่ แทนที่รัฐจะเป็นผู้ดูแลให้กลุ่มทุน (โรงงาน) ปฏิบัติตามกฎหมายก็ละเลย กลายเป็นผลักภาระให้ประชาชนต้องเป็นผู้ไปแจ้งความเอง ทำให้ประชาชนที่มีภาระ ต้องทำงาน ต้องเสียภาษีให้รัฐ และต้องเดือดร้อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ต้องมีภาระมาต่อสู้ด้วยตนเองโดยพึ่งรัฐได้ลำบากอีก