คุณคัดค้านนิรโทษกรรมแบบไหน?

สัปดาห์นี้ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลายคนตัดสินใจออกมาชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ มีไม่น้อยที่แสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดียโดยเปลี่ยนภาพในเฟซบุคขึ้นข้อความ “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” บรรยากาศการเมืองในจังหวะนี้ เรียกได้ว่า แม้แต่คนที่คิดต่างกันเรื่องการเมืองตลอดมา ต่างก็หันมาพูดเรื่องเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ภายใต้การคัดค้านเหมือนกัน ทว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายก็แตกต่างกันอยู่มาก
“จุดพีค” ของเรื่องนี้เกิดตอนตีสี่ของวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเร่งผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยที่ส.ส.ฝ่ายค้านพากันวอล์คเอาท์จากที่ประชุม
ปัญหาสำคัญของเรื่องอยู่ที่มาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการที่ให้ไว้ในการประชุมวาระแรก เพราะในวาระแรกสภาผู้แทนฯ รับหลักการร่างกฎหมายที่มีใจความสำคัญว่าจะเป็นกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ทว่า เมื่อร่างผ่านการแก้ไขจากกรรมาธิการ เนื้อหาก็ถูกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพิ่มเติมการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลอีกหลายกลุ่ม ดังที่เรียกกันว่าเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ “เหมาเข่ง” 
ก่อนกรรมาธิการ หลังกรรมาธิการ

 

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างพ.. 2547 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำ 8 สิงหาคม .. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำการในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากวามผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่งจึงนำมาสู่กระแสคัดค้านของมวลชนหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจุดยืนการคัดค้านที่แตกต่างกัน ลองสำรวจตัวคุณเองว่า คุณเชื่อแบบไหน และสอดคล้องกับกลุ่มใด
ค้านนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการฆ่าประชาชน และแกนนำ
แม้ตอนแรกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอเข้าสู่สภาจะมีวรรคหนึ่งเขียนย้ำว่า การนิรโทษกรรมนี้ “ไม่รวมถึง” การกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าจะไม่รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือทหารผู้มีอำนาจสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และไม่รวมถึงแกนนำสีเสื้อต่างๆ แต่ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนนี้ถูกแก้จากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เขียนว่า “ไม่” นิรโทษกรรม ก็แก้ไขเป็น “ให้” นิรโทษกรรม
กลุ่มที่คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการให้ล้อมปราบและใช้อาวุธกับประชาชน เช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งนำโดย บ.ก.ลายจุด, คณะนิติราษฎร์, บางส่วนของกลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จากเหตุการณ์ปี 53, นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายกล้าคิด ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7 สถาบันการศึกษา ภาคใต้, องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.), เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 
ค้านนิรโทษกรรม ไม่เอาทักษิณ
ก่อนหน้านี้ ในสังคมไทยมีข้อเสนอต่อร่างกฎหมายสองแบบ คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และร่าง พ.ร.บ.การปรองดองฯ เนื้อหาสำนวนการเขียนกฎหมายของสองเรื่องค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ความต่างของสองเรื่องนี้คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เน้นการยกเว้นความผิดให้คนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ มีลักษณะเหมาเข่งที่ให้นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงนิรโทษกรรมให้ในคดีทุจริตของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การปรองดองฯ ยังไม่เคยถูกสภาหยิบมาพิจารณา
เมื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภา แม้ในวาระรับหลักการจะเน้นที่การนิรโทษกรรมให้ประชาชน แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการแล้ว ได้มีการคัดลอกข้อความจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้ามา โดยเขียนว่า "บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้พ้นจากความผิดได้"
ความหมายของประโยคนี้ ส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และต่อมาถูกศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่น พ้นจากความรับผิดไปด้วย
กลุ่มที่ออกมาค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ด้วยเหตุผลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย, คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำโดยอธิการบดี, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เครือข่าย มอ.รักชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์, ม็อบสามเสน ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มนักธุรกิจย่านสีลม กลุ่มคนจันท์รักชาติ, กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน), คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), คณาจารย์และบุคลากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จาก 24 สถาบันการศึกษา
ค้านนิรโทษทักษิณ ให้ทักษิณกลับมาสู้คดีตามปกติ
นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่มีเหตุผลในรายละเอียดต่างกัน เช่น คณะนิติราษฎร์ เพราะเแม้คณะนิติราษฎร์เคยเสนอไว้ว่า ต้องลบล้างผลหรือมติที่เกิดขึ้นจากองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แต่คณะนิติราษฎร์เห็นว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในแนวทางแก้ไขเพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหารซึ่งต้องแก้เป็นระบบ ไม่ใช่การแต่งเติมมาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งนี้ กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ร่วมกับคณะนิติราษฎร์ เช่น ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)
นิรโทษกรรม อย่าลืมคดี 112 
ช่วงแรกของข้อเสนอเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะมีข้อถกเถียงที่ตีความกันอย่างมากว่า นิยามของคำว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองนั้น จะรวมถึงผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยหรือไม่ สุดท้าย ร่างที่ผ่านออกมานั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากเล่นบทปลอดภัยไว้ก่อนโดยการพยายามแสดงตัวว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในร่างเลยว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่รวมถึงคดีมาตรา 112
ประเด็นนี้นำมาสู่เสียงค้านของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เพราะเห็นว่าคดีมาตรา 112 จำนวนมากเป็นผลจากการแสดงออกจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องตีความ กลุ่มที่แสดงท่าทีชัดเจนออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะเลือกปฏิบัติ ไม่รวมคดีมาตรา 112 เช่น คณะนิติราษฎร์, เครือข่ายกล้าคิด (กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7สถาบันการศึกษา ภาคใต้), นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย 
ค้านนิรโทษกรรม เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง
ใจความหลักของการนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมไม่ว่าสีเสื้อใด ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคดีปิดสนามบิน ประชาชนที่ออกมาชุมนุมทั่วประเทศในปี 2553 และอีกหลายๆ เหตุการณ์ ได้รับอานิสงส์จากการนิรโทษกรรมไปด้วย 
แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 โดยเห็นว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง กลุ่มที่คัดค้านนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ ปรากฏให้เห็นได้ในบางส่วนของการปราศรัยที่ม็อบสามเสน, กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงบางส่วนของการปราศรัยในม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ตามจังหวัดต่างๆ 
ค้านนิรโทษกรรม เกลียดนักการเมืองในสภา
ด้วยโอกาสของการปฏิบัติหน้าที่กับความอุบาทว์ของเหล่านักการเมืองเสียงข้างมากในสภาอันทรงเกียรติ ที่เร่งผ่านกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ส่วนฝ่ายค้านเองก็มีเสียงไม่พอที่จะไปสร้างแรงถ่วงดุลอะไรได้ ผลการปฏิบัติงานครั้งนี้จึงนำมาสู่กระแสลุกฮือของมวลชน ที่ใช้เรื่องการค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาล 
กลุ่มที่มีจุดยืนลักษณะนี้ เช่น กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่, แฟตเรดิโอ
การแก้ไขเนื้อหาร่างแล้วรวบรัดผ่านกฎหมายอย่างน่าแปลกประหลาดของส.ส.พรรคเพื่อไทยครั้งนี้ สร้างกระแส “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ” ให้ลุกขึ้นอย่างมีนัยสำคัญบนถนนประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเกมนี้คนใส่สูทในสภามีประชาชนที่นอนอยู่ในคุกเป็นตัวประกัน น่าหวั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กระแสการคัดค้านเกมการเมืองเรื่องนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะทำให้การเรียกร้องหาความจริง และการเรียกร้องอิสรภาพของ “นักโทษการเมือง” จำนวนมากอันเป็นสาระสำคัญของเรื่องการนิรโทษกรรม กลายเป็นเสียงที่ริบหรี่ กว่าเสียงใดๆ