ความล้าหลังของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

ที่มาของผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทย
ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 คณะสงฆ์ไทยถูกปกครองโดย ‘มหาเถรสมาคม’ ภายใต้การบังคับบัญชาของ ‘สมเด็จพระสังฆราช’ โดยทั้งคู่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ กติกา ในการบังคับต่อคณะสงฆ์ทั้งหมดในประเทศไทย
ตำแหน่งประมุขผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ คือ ‘สมเด็จพระสังฆราช’ โดยผู้ที่สามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้ต้องเป็น ‘สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์’ กล่าวคือ สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับการสถาปนาก่อน ‘สมเด็จพระราชาคณะ’ รูปอื่นจะได้รับตำแหน่งนี้
ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราชจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ มรณภาพ, พ้นจากความเป็นพระภิกษุ, ลาออก, ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก ด้วยเหตุดังนั้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจะดำรงตำแหน่งนี้ได้ตลอดชีวิต โดยผู้ที่จะทำให้พ้นจากตำแหน่งมีเพียงพระมหากษัตริย์และตัวผู้ดำรงตำแหน่งเองเท่านั้น
นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราชยังดำรงตำแหน่งประธานมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ทั้งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมอีกจำนวนไม่เกินสิบสองรูป (รวมทั้งให้ออกจากตำแหน่งได้ด้วย) อีกทั้ง กรรมการมหาเถรสมาคมยังประกอบไปด้วย ‘สมเด็จพระราชาคณะ’ ทุกรูปซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
มหาเถรสมาคม อำนาจหน้าที่และการปกครอง
อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมถูกกำหนดไว้ทั้งหมด 5 ข้อ ดังปรากฏใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ว่า (1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม (2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร (3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแพร่ การสาธารณูปการ (4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และ (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศเพื่อใช้บังคับในคณะสงฆ์
ด้านการปกครองคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมเป็นผู้จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ โดยแบ่งการปกครองเป็นคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มหาเถรสมาคมในฐานะส่วนกลางมีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่นๆ ด้วย
ภาพประกอบจาก เว็บบล็อก รักษ์บ้านเกิด
ระบบอาวุโส อุปถัมภ์และยศถาบรรดาศักดิ์
จากที่มาขององค์สมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมที่กล่าวไปแล้วตอนต้น สะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับนี้ โดยเฉพาะในแง่ที่มาของความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งและการใช้อำนาจของผู้ปกครองซึ่งมีด้วยกัน 3 ประการ คือ
ประการแรก ‘ระบบอาวุโส’ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้ที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้นั้น จะต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดเท่านั้น และสามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้ ‘ตลอดชีวิต’ ซึ่งคุณสมบัติและเกณฑ์ดังกล่าวหากพิจารณาถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของพระองค์ในการปกครอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำองค์กรสงฆ์จะต้องมี ‘คุณภาพ’ และ ‘ประสิทธิภาพ’ ฉะนั้นการที่กฎหมายออกแบบที่มาโดยเน้น ‘วัยวุฒิ’ เป็นสำคัญ ส่งผลให้คณะสงฆ์มีลักษณะ ‘ผูกขาด’ เนื่องจากไม่สามารถ ‘คัดเลือก’ ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมและชอบธรรมได้
ในด้านนี้ การที่สมเด็จพระสังฆราชสามารถครองตำแหน่งได้ตลอดชีวิต จึงเป็นเป็นกติกาที่ไปคนละทางกับการรักษาประสิทธิภาพในการบริหารและปกครองอย่างยิ่ง อนึ่งต้องไม่ลืมความจริงที่ว่ามนุษย์มีช่วงอายุที่ทั้งสมบูรณ์และเสื่อมเป็นปกติ ดังนั้น การมีผู้นำที่สูงวัยจนไม่สามารถทำอะไรได้จึงเป็นเรื่องที่พิลึกชอบกล เพราะโดยอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย ตำแหน่งสมเด็จสังฆราชเป็นตำแหน่งทางการเมืองการปกครอง มิใช่เพียงองค์ประมุขของพุทธศาสนาที่ทำหน้าเชิงสัญลักษณ์ที่มีไว้กราบไหว้เท่านั้น
ประการต่อมา ‘ระบบอุปถัมภ์’ ใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ “มาตรา 20 คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม”  จากบทบัญญัติข้างต้นบอกเราว่า มหาเถรสมาคมคือผู้ปกครองที่ถูกต้องและชอบธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้การส่งเสริม สนับสนุน บังคับ หรืออื่นๆ ที่มหาเถรสมาคมกำหนดต่อคณะสงฆ์ จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรม อย่างไรก็ตาม ด้วยความล้าหลังของ พ.ร.บ. นี้ ที่กำหนดให้โครงสร้างมหาเถรสมาคมถูกตรึงด้วยระบบอาวุโสของกลุ่มสมเด็จพระราชาคณะ (ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง) และถูกครอบงำด้วยระบบอุปถัมภ์จากกรรมการอีกสิบสองรูป (ที่สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจในการแต่งตั้ง) ฉะนั้น โครงสร้างการบริหาร/ปกครองคณะสงฆ์จะมีแนวโน้มในลักษณะ 'เชื่อฟัง' และ 'เกรงใจ' เป็นสำคัญ
ประการสุดท้าย 'ยศถาบรรดาศักดิ์' ประเด็นนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. สงฆ์ แต่น่าสนใจ กล่าวคือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม จะต้องมีชั้นยศในระดับพระราชาคณะขึ้นไป ดังนั้นจึงน่าคิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ที่พระสงฆ์ผู้ที่ละซึ่งกิเลส ตัณหาแล้ว จะมีลาภ ยศ สรรเสริญ
ลักษณะอำนาจนิยมและการรวมศูนย์
จากที่กล่าวมาของต้นลักษณะของ 'ระบบอาวุโส' และ 'ระบบอุปถัมภ์' ที่ถูกกำหนดเป็นโครงสร้างหลักในการบริหารมหาเถรสมาคม ทำให้สะท้อนลักษณะคณะสงฆ์ไทยที่มีระบบการปกครองที่ไม่ต่างจากการปกครองแบบ ‘คณาธิปไตย’ กล่าวคือมหาเถรสมาคมเป็นผู้มีอำนาจเพียงหยิบมือเดียว ที่สามารถออกกฎเกณฑ์ คำสั่ง บังคับผู้อยู่ใต้ปกครอง โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครทั้งสิ้นนอกจากชนชั้นของตน กล่าวให้ชัดก็คือ โครงสร้างภายใต้กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้การกระทำใดๆ ของมหาเถรสมาคมจะต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระสังฆราช เพราะทั้งสองพระองค์เป็นผู้สถาปนาแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม
เป็นที่ทราบกันดีว่า คณาธิปไตย มีลักษณะเด่นคือ ‘อำนาจนิยม’ และปกครองแบบ ‘รวมศูนย์’ ด้วยเหตุนี้แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า กฎหมายสงฆ์ฉบับนี้ ออกแบบมาให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจอย่างมากในการปกครอง อันเป็นลักษณะการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฉะนั้นการรวมศูนย์ที่เข้มข้นอาจส่งผลให้การใช้อำนาจของมหาเถรสมาคมมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจในลักษณะ 'อำนาจนิยม' กับภิกษุ (หรือใคร) ที่ประพฤติตนขัดหูขัดตาได้
นอกจากนี้ การรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมากเกินไป จะส่งผลกระทบให้การดำเนินการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สำคัญเร่งด่วนของคณะสงฆ์เกิดความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากทั้งตัวระบบเองและจากตัวผู้บริหารเองด้วย ฉะนั้น การปกครองที่มีลักษณะการตัดสินใจแบบแนวดิ่งเช่นนี้ จึงไม่เหมาะสมและล้าสมัยเต็มที่
ด้านความสัมพันธ์ทางอำนาจ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองในลักษณะ ที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก พูดอย่างง่ายก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาเถรสมาคมกับพระสงฆ์ทั่วไป เปรียบเหมือนความสัมพันธ์ระหว่าง ‘นายกับบ่าว’ กล่าวคือพระสงฆ์ธรรมดาไม่สามารถเข้าไปมีส่วนในการปกครองได้
ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันข้างต้น สำหรับสังคมสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องล้าหลังและอันตรายต่อพุทธศาสนาในระยะยาว เพราะเป็นที่เข้าใจกันดี ว่าสังคมสมัยใหม่มีลักษณะพหุนิยม กล่าวคือภายในคณะสงฆ์มีความเห็นและความต่างที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกสังคมรวมทั้งคณะสงฆ์ด้วย
การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากประชาชน
เมื่อพลิกอ่าน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จะพบแต่ความสัมพันธ์หลักระหว่างแค่มหาเถรสมาคมกับคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อให้ ‘ภิกษุปกครองภิกษุ’ ทั้งนี้แม้จะมีความสัมพันธ์นอกจากตัวแสดงหลักนี้อยู่บ้าง แต่จะเป็นลักษณะของบทลงโทษเพื่อป้องกันการดูหมิ่นเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามพุทธศาสนามิได้มีแต่เพียงภิกษุเท่านั้น ดังนั้นจึงชวนให้สงสัยว่า ‘ประชาชน’ หรือ ‘พุทธศาสนิกชน’ หายไปไหน และ ประชาชนจะมีส่วนในการปกครองคณะสงฆ์ได้หรือไม่
หากว่ากันตามพระพุทธเจ้า เรื่อง ‘พุทธบริษัทสี่’ พระองค์ได้ตรัสว่าผู้ที่สืบทอดพระพุทธศาสนา ต้องประกอบไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ฉะนั้นกฎหมายสงฆ์ฉบับปัจจุบันจึงมีปัญหา เพราะให้ความสำคัญกับภิกษุมากเกินจนละเลย องค์ประกอบที่เหลือ
ดังนั้นการขาดหายไปของ ภิกษุณี และประชาชนชาวพุทธ นัยยะหนึ่งหมายถึงการทำลายพระพุทธศาสนา เนื่องจากกฎหมายนี้ได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในลักษณะ ‘พึ่งพิง’ ทั้งที่จริงความสัมพันธ์นั้นควรมีลักษณะ ‘พึ่งพา’ เสียมากกว่า ด้วยเหตุนี้ การเรียกร้องหรือการต่อว่าต่อขานพุทธศาสนิกชน ให้เข้าวัด ฟังธรรม จึงเป็นเรื่องน่าขันเพราะเป็นการเรียกร้องมากเกินไป 
คงจะไม่เกินกว่าเหตุ ถ้ากล่าวว่ากฎหมายสงฆ์ที่ใช้อยู่ ทำให้ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อมหาเถรสมาคมและคณะสงฆ์ทั้งปวงลดน้อยถอยลง (ซึ่งถ้าไปถามคนรุ่นใหม่ที่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ว่านับถือศาสนาอะไร? เราจะได้คำตอบที่น่าพอใจว่าเขานับถือพุทธ แต่เป็นพุทธแค่ในบัตรประชาชน) เพราะพุทธศาสนาในปัจจุบัน ไม่ตอบสนองอะไรในชีวิตของผู้คนเลย นอกเสียจาก เอาเงินใส่กล่อง สะเดาะเคราะห์และขอหวย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มหาเถรสมาคมเป็นกลไกของรัฐในการควบคุมคณะสงฆ์ ทั้งในการควบคุมวัตรปฏิบัติและเนื้อหาหรือคำสอนต่อทั้งพระสงฆ์และประชาชน อย่างไรก็ตาม การควบคุมที่เกิดขึ้นนับวันดูจะไร้ประสิทธิภาพมากขึ้นทุกที
สำหรับความไร้ประสิทธิภาพ เรื่องแรก การควบคุมความประพฤติของภิกษุคงจะไม่ต้องกล่าวให้เสียเวลา เพราะมีข่าวมากพอให้เข้าใจอยู่แล้ว เรื่องต่อมาเนื้อหาและคำสอน มหาเถรสมาคมในฐานะเครื่องมือของรัฐที่กุมอำนาจเด็ดขาดในการเผยแพร่พุทธศาสนาฉบับทางการ ซึ่งแน่นอนว่าคำสอนนั้นย่อมต้องตอบสนองต่ออุดมการณ์หรือศีลธรรมที่รัฐเป็นผู้กำหนด ฉะนั้นศีลธรรมอันดีงามของสังคมจึงถูกกำหนดจากชนชั้นนำเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งศีลธรรมนั้นหลายอย่างถูกปฏิเสธ ดังปรากฏว่า ศีลธรรมคำสอนหลายอย่างที่เผยแพร่สู่ประชาชนเริ่มถูกท้าทาย ล้อเลียน จนทำให้เสื่อมขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนี้ก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญที่ว่า ควรแยกรัฐออกจากศาสนาหรือไม่
ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในขณะนี้ น่าคิดว่ามีความจำเป็นแล้วหรือไม่ ที่พุทธศาสนิกชนควรจะต้องเข้าไปมีบทบาทในการมีส่วนร่วมปกครองคณะสงฆ์ในแบบแบบหนึ่ง เพราะการปกครองที่รวมศูนย์ที่มหาเถรสมาคมขณะนี้ มีลักษณะที่ปิดแคบและขาดการมีส่วนร่วม ทำให้การทำหน้าที่ของมหาเถรสมาคมขาดความเชื่อมั่นและความชอบธรรม
ด้วยเหตุนี้ว่ากันตาม คุณค่าสังคมสมัยใหม่การปกครองคณะสงฆ์ที่ชอบธรรมต้องมีความ ‘โปร่งใส’ และ ‘ตรวจสอบได้’ ซึ่งหากจะทำเช่นนั้นได้ ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการปกครองคณะสงฆ์ เช่น การให้ประชาชนควบคุมพระสงฆ์โดยตรง ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับมหาเถรสมาคมแล้วเชื่อว่าประชาชนมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากความใกล้ชิดที่มีต่อพระสงฆ์ ในอีกด้านหนึ่งประชาชนยังเป็นอีกอำนาจหนึ่งในการ ‘ตรวจสอบถ่วงดุล’ อำนาจมหาเถรสมาคมด้วย
นอกจากนี้ การเปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้ามีส่วนร่วมในการเสนอแนะ กำหนด เนื้อหาคำสอนของพุทธศาสนาที่จะเผยแพร่ต่อสังคมจะช่วยทำเรื่องพุทธศาสนาเป็นพุทธศาสนาของประชาชนจริงๆ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าคำสอนของศาสนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในเวลาเดียวกันแต่คนละสถานที่ก็ยังต่างกันได้ ดังนั้น การเปลี่ยนผู้กุมการตีความธรรมะของพระพุทธเจ้าของภิกษุมาเป็นการตีความร่วมกับประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อต้องการเห็นความเจริญก้าวของพุทธศาสนาเป็นสำคัญ การที่พุทธศาสนาจะก้าวเดินไปอย่างมั่นคงได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้การปกครองเป็นของทั้งนักบวชและผู้ศรัทธา ทั้งนี้โดยถ่วงดุลหรือพึ่งพาซึ่งกันและกัน ดังนั้น จึงควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 หรือไม่ก็ ‘ยกเลิก’ ไปเลยเสียก็ดี เพื่อความจำเริญของพุทธะ
ไฟล์แนบ