เวทีสาธารณะ: เพื่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ จะต้องสังเวยด้วยสิทธิส่วนบุคคลจริงหรือ?

ที่ผ่านมามีกระแสการวิพากวิจารณ์เกิดขึ้นในสังคมจากประเด็นที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีแนวนโยบายเข้าควบคุมการสื่อสารผ่านโปรแกรมไลน์ (LINE) และเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ อาศัยเหตุผลเพื่อความมั่นคงของชาติ ทางกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงจัดให้มีเวทีเสวนาสาธารณะขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ต่อประเด็นนี้เป็น NBTC Public Forum ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “เพื่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ จะต้องสังเวยด้วยสิทธิส่วนบุคคลจริงหรือ?” เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2556 หอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กสทช.

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวเปิดงานว่า กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ยอมรับว่าเสรีภาพในการสื่อสารนั้นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่การใช้สิทธิดังกล่าวนั้น ต้องระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคม อย่างไรก็ดี กรรมการของกสทช.เองเป็นเพียงแค่ตัวแทนของหน่วยงานเท่านั้น สังคมต่างหากที่จะเป็นคนบอกว่าความสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงนั้นควรจะอยู่ตรงไหน เพื่อให้สิทธิความเป็นส่วนตัวได้รับการคุ้มครองและลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อสังคมให้ได้มากที่สุด

ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้ ประเทศฝั่งตะวันตกก็เผชิญอยู่เช่นกัน เพราะปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลผ่านระบบ wire และ wireless กันมากขึ้น ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอยู่ในพื้นที่ที่ผู้อื่นสามารถเข้าถึงได้ เมื่อการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้น คนอื่นก็สามารถสอดส่องข้อมูลเราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน สุภิญญาเห็นว่า ภาครัฐหรือรัฐสภาคงต้องมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวสรุปสถานการณ์ การละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ โดยเริ่มกล่าวเปรียบเทียบถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างตลาดของภาคเอกชนและตลาดของภาครัฐว่า ในการซื้อขายต่างๆ ตัวผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายเงิน ตัวสินค้าไม่ต้องจ่าย ดังนั้นเมื่อมองในมุมเดียวกัน การที่เราใช้บริการต่างๆ เช่นการใช้บัตรเครดิตการ์ด เราไม่ต้องเสียค่าบริการแต่อย่างใด เช่นนี้ ถือได้ไหมว่าเราก็เป็นสินค้าในบริการดังกล่าว นั่นคือเหตุผลที่เราไม่ต้องจ่ายเงินอะไรเลย เมื่อมองมิติเดียวกันสำหรับหน่วยงานความมั่นคงหรือสถาบันอะไรก็ตามที่มีอำนาจในสังคม หากภาคธุรกิจสามารถทำข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าได้ หน่วยงานรัฐก็อาจทำข้อมูลพฤติกรรมพลเมืองได้เช่นกัน บางคนอาจคิดว่าประเด็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวคือการดักฟัง แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หรือการใช้ขนส่งมวลชน จะเกิดอะไรขึ้น หากภาครัฐสามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดของเรา แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมโยงต่อกัน

อาทิตย์กล่าวเสริมเกี่ยวกับการกำกับดูแลว่า ปัจจุบัน ทุกอย่างเป็นดิจิตอลหมดแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่การรับส่งข้อมูลจะมีปลายแค่สองด้าน คือ ต้นทางและปลายทาง ซึ่งการสื่อสารแบบเดิมมีแนวโน้มว่าจะปลอดภัยกว่า แต่ในยุคดิจิตอล การสื่อสารจะมีการแบ่งข้อมูลออกเป็นท่อนๆ และทำการส่งทีละท่อน ทำให้คนที่มาเกี่ยวข้องในการส่งข้อมูลจะมีมากกว่าสองคน ดังนั้น หากเราโยนหน้าที่ในการกำกับดูแลให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มันจะยังดีอยู่หรือไม่สำหรับการสื่อสารในยุคดิจิตอลที่ทุกอย่างแยกส่วนออกมาและมีบุคคลต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

อาทิตย์กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่า ยังคงมีความน่ากังวลอยู่ เนื่องจากเนื้อหาโดยมากเป็นเรื่องของการกำหนดภาระหน้าที่ให้กับผู้ให้บริการต้องเก็บและมอบให้รัฐเมื่อรัฐต้องการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้อมูลส่วนใหญ่ของประชาชนไม่ได้อยู่ในมือรัฐอีกต่อไป แม้ชื่อร่างกฎหมายดูเหมือนจะเป็นการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล แต่เนื้อหากลับกลายเป็นว่าหน่วยงานเอกชนต้องเป็นแขนขาของรัฐในการช่วยกันจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชิงนโยบายอีกประการหนึ่งคือเรื่องของลิขสิทธิ์ โดยร่างกฎหมายได้กำหนดมาตราการต่างๆ ทางเทคโนโลนีเพื่อเข้ามาควบคุมเนื้อหาของลิขสิทธิ์ไม่ให้ถูกละเมิด โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวจะมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุุคคลเพื่อดูว่าเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ โปรแกรมต่างๆ ที่ถูกติดตั้งเพื่อตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็อาจถูกใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างอื่นได้เช่นเดียวกัน

พ.ต.ท. โอฬาร สุขเกษม จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) กล่าวจากมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมายว่า  ในทางปฏิบัติของตำรวจ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ซึ่งใครจะล่วงละเมิดไม่ได้ ส่วนการใช้สิทธิเสรีภาพบางอย่างก็จะไปใช้ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ได้เช่นกัน จึงต้องมีการบัญญัติกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลไว้ ดังนั้น การเข้าไปตรวจสอบระบบออนไลน์ก็เป็นอำนาจที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานสามารถกระทำได้เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ

พ.ต.ท. โอฬาร กล่าวว่า การทำงานของตำรวจมีสองส่วน คือ เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือเชื่อว่าจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ตำรวจสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ เมื่อมีการดำเนินการสืบสวนต่อจนพบการกระทำความผิด จึงขออำนาจศาลในการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น ตามกฎหมายแล้ว ตำรวจหรือหน่วยงานความมั่นคงนั้นไม่สามารถไปดักข้อมูลได้เอง

พ.ต.ท. โอฬาร  กล่าวเสริมว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจในการวินิจฉัยเจตนา ตำรวจเพียงแต่ดูพฤติการณ์แทน หากเข้าองค์ประกอบความผิด ตำรวจจำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน หลังจากนั้นจึงนำเหตุแวดล้อมมาใช้เพื่อจัดการดำเนินคดี ข้อมูลต่างๆ ที่ตำรวจได้มาต้องชอบชอบด้วยกฎหมาย หากได้มาโดยมิชอบแล้วศาลก็จะไม่รับฟัง

ในส่วนประเด็นความมั่นคงกับการพูดคุยสื่อสาร จอม เพชรประดับ ผู้ดำเนินรายการถามว่า ตำรวจใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องของความมั่นคง พ.ต.ท. โอฬาร กล่าวตอบต่อประเด็นนี้ว่า ตำรวจจะพิจารณาว่า พฤติการณ์และการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ แล้วจึงเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนต่อไป

สุนัย ผาสุข ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิในการติดต่อสื่อสารก็ได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศด้วย โดยข้อที่ 17 กำหนดไว้ชัดเจนถึงสิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงในการติดต่อสื่อสาร แต่ว่ารัฐได้รับข้อยกเว้นให้เข้ามาควบคุมดูแลได้ โดยการควบคุมดูแลนั้น รัฐต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง คือ น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องมีการชี้แจงว่ากระทำโดยเฉพาะเจาะจงอย่างไร ต้องมีเงื่อนเวลาที่ชัดเจนและพอสมควรแก่เหตุ ไม่ใช่ทำโดยการเหวี่ยงแหและทำอย่างไรก็ได้

สุนัยกล่าวว่า ปัญหาในเรื่องของสิทธิในความเป็นส่วนตัวเป็นปัญหาร่วมสมัย รัฐอื่นๆ ก็พยายามอ้างเรื่องความปลอดภัยมาเป็นเหตุผลสนับสนุนในการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวในสังคมออนไลน์เช่นกัน จึงจำเป็นที่ต้องพูดออกมาให้ชัดเจนว่า การกระทำที่เป็นการควบคุมดูแลนั้น ต้องไม่เป็นไปโดยพลการ กล่าวคือต้องมีเหตุอันควร และเฉพาะเจาะจงเป็นกรณี มีคำวินิจฉัยที่สามารถชี้แจงและถูกตรวจสอบตรวจทานได้

สุนัยกล่าวต่อไปว่า การป้องกันไม่ให้การควบคุมดูแลเป็นการกระทำโดยพลการนั้น ต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่า เจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจดังกล่าวเป็นใครบ้าง สำหรับปรเะทศไทย การใช้อำนาจตามกฎหมายยังมีความคลุมเครืออยู่มาก เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจตามหลักนิติรัฐ  นอกเหนือจากตำรวจแล้ว เราไม่ทราบเลยว่าใครใช้อำนาจตามกฎหมายอะไร เจ้าพนักงานดำเนินการไปอย่างไร และนำไปสู่ผลอะไรบ้าง

ในประเด็นสิทธิส่วนบุคคลตามมาตรฐานระหว่างประเทศ สุนัยยกตัวอย่างเรื่อง Global Network Initiative ให้ที่ประชุมฟังว่า เป็นหนึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนที่วางกรอบให้บริษัทด้านการสื่อสารโทรมนาคมควรปฏิบัติตาม โดยหลักการคือ บริษัทเหล่านี้จะมีภาระในการดูแลมิให้เกิดการละเมิดสิทธิจากการใช้บริการ และมีหน้าที่ต้องแจ้งให้กับรัฐและผู้ใช้บริการว่ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นแล้ว เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย หากมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น มีการขอดูข้อมูลโทรศัพท์ ผู้ใช้บริการจะไม่รู้ถึงการขอดูข้อมูลดังกล่าวเลย แต่ตามหลักสากลนั้น ผู้ให้บริการจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการได้ทราบ เพื่อผู้ใช้บริการจะได้สื่อสารกับเจ้าพนักงานได้โดยตรง มิเช่นนั้นการขอดูข้อมูลในโทรศัพท์ดังกล่าวจะกลายเป็นการสืบสวนสอบสวนในทางลับได้

สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ประชาชนจะกระทำสิ่งใดก็ได้ เว้นแต่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ แต่สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ จะกระทำสิ่งใดไม่ได้เลยหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงถึงความชอบด้วยกฎหมายตลอดเวลา ต้องถูกตั้งคำถามและคำนึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น สำหรับสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมด้วย เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ธรรมชาติ

สมชายกล่าวต่อไปว่า รัฐเป็นเพียงเครื่องมือของมนุษย์ในอันที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุข และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ความมั่นคงของรัฐในควมหมายที่แท้จริงก็คือความมั่นคงของมนุษย์ รัฐเป็นเครื่องมือที่ต้องสร้างดุลยภาพให้กับสังคม แต่การที่จะสร้างสังคมในส่วนนี้ได้ มนุษนย์ต้องยอมสละสิทธิบางประการ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเพื่อความสุขของมนุษยน์เอง

ในส่วนของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ สมชายอธิบายว่าสามารถกระทำได้โดยกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องทำเท่าที่จำเป็น และการจำกัดนั้นจะไปกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิไม่ได้  สำหรับสิทธิส่วนบุคคล การที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือจะเข้าไปจำกัดโดยรัฐนั้น จะต้องกระทำโดยความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างบุคคล สมชายอธิบายเพิ่มจากที่ พ.ต.ท. โอฬาร ว่าการคำนึงว่าการกระทำใดๆ เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่เพียงพอ เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้อย่างกว้างขวางมาก เจ้าพนักงานต้องใช้ดุลยพินิจด้วย

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จากมูลนิธิกระจกเงา เห็นว่ากฎหมายที่บังคับใช้นั้นพัฒนาตามหลังมนุษย์มาโดยตลอด โดยยกตัวอย่างเชิงขบขันว่า สมัยก่อนก็เคยมีการฟ้องผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในกรณีที่มีการใช้โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต และยังมีการยึดโมเด็มเพราะถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กระทำความผิด สมบัติแสดงความเห็นว่า รัฐที่มองว่าการที่ประชาชนคุยกันและอาจกระทบต่อความมั่นคง เช่น พม่า หรือ จีน นั้น มันเป็นความกลัวของรัฐเอง

สมบัติกล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีโปรแกรมไลน์นั้น เป็นการพูดกันคนละเรื่องระหว่างตำรวจกับประชาชน เมื่อพูดถึงข้อมูลในไลน์แล้ว ตำรวจมองว่าเป็นข้อมูลอาชญากร แต่ประชาชนจะมองว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

อย่างไรก็ดี สมบัติแสดงความเห็นด้วยว่า รัฐจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือเหล่านี้ในการตรวจดูข้อมูลส่วนบุคคลบางประเภทเพื่อตามหาตัวผู้กระทำความผิด เช่น ข้อมูลการใช้โทรศัทพ์ ข้อมูลแสดงสถานที่ของผู้ใช้โทรศัพท์ และตัวระบุหมายเลขของเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ นอกจากนี้ สมบัติยังเห็นด้วยและส่งเสริมให้รัฐจัดให้มีกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่มักมีอาชญากรรมเกิดขึ้น แต่ควรมีป้ายติดบอกไว้ด้วยว่า บริเวณดังกล่าวมีกล้องวงจรปิดติดอยู่

ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารเว็บไซต์ kapook.com กล่าวในฐานะผู้ให้บริการว่า ไม่น่ามีใครยอมให้บุคคลอื่นเอาบริการของตนไปใช้ในทางที่ผิด เมื่อเจ้าหน้าที่มาขอความร่วมมือ ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการก็จะให้ความร่วมมือ โดยจะให้ความร่วมมือเมื่อมีคำสั่งศาลมา นอกจากนี้ ปรเมศวร์แสดงความเห็นในเรื่องของการปิดกั้นเว็บไซต์ว่า หากเป็นการสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์โดยศาล คนส่วนใหญ่จะสามารถเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นการสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์โดยกระทรวงไอซีที คนอาจยังตั้งคำถามอยู่เนื่องจากกระทรวงไอซีทีไม่มีอำนาจที่จะทำได้

ตอนท้ายการเสวนามีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถามและแสดงความเห็นกันต่อ โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการเข้าไปดูข้อมูลส่วนบุคคล และหากตำรวจไม่ดำเนินการดังกล่าวแล้วจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อย่างไร หลังจากเสวนากันจบแล้ว ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวปิดงานและกล่าวว่าจะมีเวทีสาธารณะอีก เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป