คดีพี่ฟ้องน้อง อุทาหรณ์การรักษาความมั่นคงแบบไทย

สิ้นสุดการสืบพยานทุกปากไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2556 สำหรับคดีนายยุทธภูมิ ที่ถูกพี่ชายตัวเองกล่าวหาดำเนินคดีตามมาตรา112 จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูจะห่างไกลจากความผิดอันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
เหตุการณ์ของคดีนี้ เป็นอีกฉากหนึ่งที่ควรจดจำไว้เป็นบทเรียนเพื่อเล่าขานกันต่อสำหรับคนที่สนใจการทำงานเพื่อสร้างบรรยากาศความกลัวของกฎหมายหนึ่งมาตราที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดของยุคสมัย การที่พี่ชายนำถ้อยคำที่น้องชายพูดพูดกันขณะดูทีวีในบ้านสองคน และข้อความบนแผ่นซีดีที่อ้างว่าเป็นน้องชายเขียนแล้ววางไว้เฉยๆ มากล่าวหาน้องชายว่าหมิ่นฯ ในหลวง อันเป็นเรื่องภายในบ้านที่ไม่มีคนอื่นได้รับรู้รับเห็น แต่กลับมีโทษจำคุก 3-15 ปี พร้อมโทษทัณฑ์ทางสังคมอีกนับไม่ถ้วน
คดีนี้ตอกย้ำความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมอีกขั้น เมื่อนายยุทธภูมิไม่ได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาล ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานานเกือบหนึ่งปีแล้ว
20 ส.ค.56 ตัวพี่ชายขึ้นเบิกความ ตอบคำถามอัยการอย่างฉะฉาน นอกจากกล่าวหาน้องชายว่าพูดคำหยาบคายขณะที่ในทีวีมีภาพในหลวง และเขียนข้อความหยาบคายลงบนแผ่นซีดีใต้คำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" แล้ว พี่ชายยังยอมรับว่า ไม่ถูกกับน้องชายมานานแล้ว เคยทำการค้าขายด้วยกันแต่ทะเลาะกันรุนแรงจนต้องย้ายออกจากบ้านถึงสองครั้ง เพราะน้องชายชอบกินเหล้าเมา ชวนทะเลาะวิวาท และเคยมีเรื่องกันจนน้องชายไปแจ้งตำรวจ ด้านพี่ชายเป็นเสื้อเหลืองส่วนน้องชายเป็นเสื้อแดง เห็นว่าน้องชายเป็นคนไม่ดีไม่สำนึกในความผิดที่ทำไม่ดีกับตนจึงนำเรื่องดูหมิ่นในหลวงมาแจ้งตำรวจ ปัจจุบันแยกกันอยู่และไม่พูดคุยกัน
ศาลสรุปใจความได้ว่าผู้กล่าวหากับจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน 
เรื่องราวแบบนี้ฟังผิวเผินศาลควรจะยกฟ้องทันที แต่ความยากอยู่ตรงที่ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ของตำรวจให้ความเห็นยืนยันว่า ลายมือบนแผ่นซีดีที่พี่ชายนำมาเหมือนกับลายมือของจำเลย นั่นเป็นปมที่ยังแก้ไม่ออก ขณะที่จำเลยปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เคยพูด และไม่ได้เขียนข้อความตามฟ้อง แต่ถูกใส่ร้ายเพราะทะเลาะกันในเรื่องอื่น ด้านภรรยาจำเลย เพื่อนบ้าน และแม่ก็เบิกความตรงกัน เชื่อว่าพี่ชายกล่าวหาใส่ร้าย ส่วนจำเลยจงรักภักดีมาตลอด
ปมข้อกฎหมายอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้ คือ ต่อให้จำเลยกระทำตามที่พี่ชายกล่าวหาจริง ลำพังเพียงการสบถขณะดูโทรทัศน์ โดยมีพี่ชายอยู่บริเวณนั้น กับการเขียนข้อความลงบนซีดีแล้ววางไว้เฉยๆ ไม่ได้เอาให้ใครดู เมื่อไม่มีผู้รับสารโดยตรงจะถือเป็นการ "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย" ได้หรือไม่ และการกระทำของจำเลยภายในบ้านของตัวเอง ร้ายแรงขนาดกระทบต่อ "ความมั่นคงของรัฐ" อันเป็นวัตถุประสงค์ที่กฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองหรือไม่
หากการกระทำตามฟ้องคดีนี้เพียงพอที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 อันมีโทษจำคุก 3-15 ปีแล้ว คดีนี้คงส่งผลสะเทือนต่อบรรยากาศการถกเถียงพูดคุยกันอย่างสันติในสังคมไทย ผลักให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเรี่องอ่อนไหวที่ไม่อาจแม้แต่จะเอ่ยถึงกับคนในครอบครัวได้ และถูกเก็บไว้เป็นเบื้องหลังความหวาดกลัวของประชาชน
หากศาลไม่เชื่อคำกล่าวหาของพี่ชายเพราะมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ระยะเวลาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เกือบหนึ่งปีคงเป็นบทเรียนชีวิตราคาแพงของยุทธภูมิและครอบครัว และเป็นกรณีศึกษาที่ไม่ควรมองข้ามไปในระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย หากศาลเชื่อคำกล่าวหาของพี่ชายและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แนวทางการตีความบังคับใช้กฎหมายของศาลในคดีนี้คงจะเป็นที่โจษจันกันไปอีกนาน
"13 กันยายน นัดฟังคำพิพากษา"