ความเป็นส่วนตัว: ใครกันเป็นเจ้าของ?

ปัจจุบัน สังคมมีการถกเถียงในประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวกันมาก แต่ในทางกฎหมายยังไม่มีนิยามแน่นอนว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัว มีความหมายว่าอย่างไร ใครเป็นเจ้าของ กฎหมายเข้ามาดูแลได้มากหรือน้อยเพียงใด สังคมจะดูแลกันเองได้หรือไม่ และความเป็นส่วนตัวอยู่ตรงไหนในพื้นที่สาธารณะ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตจัดทำรายงานสำรวจการละเมิดความเป็นส่วนตัวในสังคมออนไลน์ไทย ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2556รายงานฉบับนี้ ตั้งคำถามกับผู้ใช้อินเทอร์เนตว่า ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างไรบ้าง

เมื่อวันพุธที่ 21สิงหาคม 2556ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์ นักวิจัยโครงการสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต นำเสนอรายงานเพื่อรับฟังความคิดเห็น ณ ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี  ผศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และ ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความเห็นต่อรายงาน

ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์ กล่าวว่า ความหมายของ “ความเป็นส่วนตัว” ค่อนข้างเป็นปัญหา เนื่องจากเข้าใจได้ยาก และความหมายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นิยามโดยตัวมันเองยังไม่ชัดว่า ความเป็นส่วนตัวนั้นหมายถึงอะไร และใครเป็นเจ้าของ

 

ภาพประกอบจาก Wikimedia Commons

 

ธิติมายกตัวอย่างความสัมพันธ์ของความเป็นส่วนตัวไว้สามกรณี คือ การให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้ให้บริการ การให้ข้อมูลส่วนตัวกับรัฐ และการใช้ข้อมูลส่วนตัวระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกันเอง โดยย้ำว่าเมื่อมีการให้ข้อมูลส่วนตัวไปแล้ว ต้องดูด้วยว่าฝ่ายที่ได้รับข้อมูลไป มีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกเปิดเผย หรือส่งต่อไปยังบุคคลที่สาม

ธิติมากล่าวว่า ปัญหาในปัจจุบัน คือ ผู้ใช้บริการไม่รู้ตัวว่ากำลังเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเองอยู่ เช่น การโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อาจมีการระบุตำแหน่งในขณะนั้นของผู้โพสต์ได้ หรือในกรณีของการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกันเอง เช่น การนำเอารูปบุคคลอื่นไปโพสต์บนโซเชียลมีเดีย อย่างกรณี แฟนเพจยามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่นได้เช่นเดียวกัน

ธิติมากล่าวสรุปว่า ความหมายของความเป็นส่วนตัวนั้นจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม อาชีพ และสังคม จึงจำเป็นที่ต้องมาหาข้อตกลงร่วมกันว่า จริงๆ แล้วความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นของใคร และควรที่จะได้รับการคุ้มครองหรือไม่

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ให้ความเห็นต่อรายงานว่ามองความเป็นส่วนตัวจากมิติทางสังคมและวัฒนธรรม ตั้งคำถามว่าสังคมไทยเข้าใจความเป็นส่วนตัวและด้านที่เป็นตรงกันข้ามคือ พื้นที่สาธารณะกันอย่างไร และสังคมสามารถดูแลกันเองโดยกฎหมายไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องได้หรือไม่

ผศ.ดร.ยุกติเห็นว่า สำหรับบุคคลสาธารณะ หรือ คนที่มีผลต่อสาธารณะ ไม่รู้ว่าความเป็นส่วนตัวของเขาอยู่ตรงไหน เหมือนว่าคนสาธารณะถูกคาดหวังจากสังคมให้ต้องเปิดเผยความเป็นส่วนตัว อีกกลุ่มหนึ่งที่อาจถูกรบกวนหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ง่ายๆ คือ กลุ่มที่ไม่มีอำนาจต่อรองในสังคม เช่น คนพิการ เหยื่อ หรือครอบครัวของเหยื่อ ที่มักปรากฏให้เห็นในสื่อ ในกรณีเหล่านี้ ดูเหมือนว่าสังคมยอมให้มีการละเมิดความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเราให้อำนาจกับความเป็นสาธารณะมากกว่า

ผศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า ความส่วนตัวนั้นมีหลายระดับ ไม่ได้มีแต่ในระดับปัจเจก หรือการคุ้มครองบุคคลในพื้นที่สาธารณะ เช่น การถ่ายภาพบุคคลอื่นในพื้นที่สาธารณะ เราอาจไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นได้  หรือ การเปิดเผยเรื่องของบุคคลสาธารณะบางคน อะไรคือเกณฑ์หรือมาตรฐานในการตัดสินว่าดีหรือไม่ดี

ผศ.ดร.ยุกติให้ความเห็นว่าสังคมเราตอนนี้มีลักษณะที่ซับซ้อน การควบคุมการละเมิดกความเป็นส่วนตัว ต้องใช้เกณฑ์ที่มีมาตรฐานสากล โดยกลไกดังกล่าวต้องไม่แข็งเกินไป และสามารถควบคุมสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ให้ความเห็นในมุมมองของกฎหมายว่า เรื่องความเป็นส่วนตัวมีหลายบริบทและหลายนิยาม เมื่อมองในมุมมองของกฎหมายแล้วจะแคบกว่า จึงดูเพียงศาสตร์เดียวจึงไม่ได้

ทั้งนี้ ผศ.คณาธิปเสริมว่า กฎหมายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่ฟันธงได้ยาก เช่น การถ่ายรูปแล้วไปโพสต์บนอินเทอร์เน็ต ไม่มีกฎหมายฉบับใดระบุว่าถ่ายรูปแล้วเป็นความผิด เว้นแต่เป็นการถ่ายรูปลามกอนาจาร หากเป็นเรื่องส่วนตัวหรืออิริยาบถธรรมดา กฎหมายไทยไม่คุ้มครอง หรือถ้าจะฟ้องหมิ่นประมาท ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราเสียหายอย่างไร ซึ่งมุมมองศาลต่อกรณีนี้ถือว่าเป็นไปทางอนุรักษ์นิยมมาก

ผศ.คณาธิปเห็นว่า เมื่อระบบกฎหมายมีปัญหาทั้งด้านเนื้อหาและการบังคับใช้ จึงอยากให้การลงโทษทางสังคม (social sanction) มีความสมบูรณ์มากขึ้น คือให้สังคมมาดูแลกันเอง แต่ทั้งนี้ มีข้อน่าเป็นห่วงสำหรับคนที่เป็นจำเลยสังคมว่า เขาอาจไม่มีโอกาสมาชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา