พ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่ เอื้อคอรัปชั่น-ละเมิดสิทธิมนุษยชน

16 กรกฎาคม 2556 เครือข่ายพลังสมองปกป้องปวงชน และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกันจัดงานเสวนา “พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ประเทศไทยได้หรือเสีย?” หลังพ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 แต่มีคำถามว่ากฎหมายนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่ 
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนประกาศใช้และมีผลบังคับแล้วในปีนี้ และจะมีผลบังคับเต็มที่เมื่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือที่เรียกว่า คณะกรรมการ PPP ประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ในรายละเอียดซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2556 กฎหมายนี้แก้ไขมาจากกฎหมายปี 2535 ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจมากขึ้น ให้แก้ไขสัญญาที่ทำไว้กับรัฐได้ง่ายขึ้น
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมเสรีในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งนำเข้าสู่ประเทศไทยโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ทำลายประชาธิปไตยและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม กฎหมายนี้จะแปรรูปให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าและธุรกิจ เปลี่ยนสมบัติสาธารณะเป็นสมบัติเอกชนของชนชั้นอภิสิทธิ์ เช่น โครงการสร้างมอเตอร์เวย์ไปหนองคายต้องเวณคืนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์แถวปากช่องแล้วไล่ชาวบ้านไปอยู่ที่อื่น
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ในอดีตเราพบโครงการของรัฐและเอกชนที่ละมิดสิทธิมนุษยชนมามาก เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ มาบตาพุด ท่อก๊าซที่กาญจนบุรี โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คิงพาวเวอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเรายังเผชิญกับโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน โครงการเหมืองแร่ต่างๆ โครงการขุดเจาะน้ำมันและสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่ยกเว้นให้กิจการปิโตรเลียมไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบตามกฎหมายนี้
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ จะละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ ละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ในทางเศรษฐกิจ เพราะต้องไปไล่ที่ชาวบ้านออกเพื่อทำกิจการต่างๆ ละเมิดสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง ทำให้คนต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนจากวิถีแบบเกษตรกรมาเป็นแรงงานในโรงงาน
หากพ.ร.บ.ร่วมทุน ถูกนำมาใช้บังคับอย่างเต็มที่ นพ.นิรันดร์ มองว่า จะเกิดความเสียหายในระบบนิติรัฐนิติธรรม เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจสามารถออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองได้ เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย และแสดงให้เห็นว่ามีการร่างกฎหมายที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเข้าชื่อกัน 20,000 รายชื่อสามารถเข้าชื่อกันให้วุฒิสภาตรวจสอบได้ และประชาชนสามารถร้องขอให้ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการออกกฎหมายหรือนโยบายที่ผิดได้
รศ.คมสัน โพธิ์คง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้มีการฮั้วกันได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น และจะก่อให้เกิดการคอรัปชั่นอย่างมหาศาล เพราะเขียนไว้ในมาตรา 28 ว่าการอนุมัติโครงการใดๆ โดยคณะรัฐมนตรีให้ถือว่าเป็นการอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เท่ากับเขียนว่ามติคณะรัฐมนตรีมีค่าเป็นกฎหมาย หรือยกเว้นกฎหมายต่างๆ และยกเว้นรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ได้
“มาตรา 28  หากโครงการใดจะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินหรืองบประมาณของหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือจะต้องมีการก่อหนี้โดยการกู้หรือการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการแล้ว ให้เสนอโครงการนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายหรือวงเงินที่จะใช้ในการก่อหนี้ของโครงการนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเป็นการอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี”
รศ.คมสัน กล่าวว่า คณะกรรมการPPP ดูเหมือนว่าดีที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมด้วย 7 คน และมีฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำรวม 10 คน ซึ่งฝ่ายการเมืองกับข้าราชการรวมแล้วมีจำนวนมากกว่าครอบงำกรรมการชุดนี้ได้ ปัญหาคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแม้จะห้ามถือหุ้นในบริษัทเอกชนหลังออกจากการเป็นคณะกรรมการPPP แต่ไม่ได้ห้ามการเป็นผู้ถือหุ้นระหว่างยังเป็นคณะกรรมการPPP อยู่ด้วย และไม่ได้ห้ามลูก เมีย หรือญาติของผู้ถือหุ้นเข้าเป็นกรรมการPPP
รศ.คมสัน กล่าวต่อว่า มาตรา 14 วรรคท้ายของพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ กำหนดว่า “กรรมการที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่มีการพิจารณาจะเข้าร่วมประชุมหรือออกเสียงลงคะแนนในเรื่องดังกล่าวมิได้” ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนกฎหมายที่ซ่อนเงื่อนปมเอาไว้ หมายความว่า คนที่มีส่วนได้เสียแม้จะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้แต่ก็สามารถเป็นคณะกรรมการ กฎหมายฉบับนี้เหมือนปูทางให้โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน และโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านเดินทางได้สะดวก
ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่เปิดประตูขนาดใหญ่ให้เอกชนเข้ามาใช้ทรัพยากรของประเทศโดยไม่มีมาตรการที่จะควบคุมติดตามตรวจสอบได้ ยกอำนาจให้คณะกรรมการหรือคนกลุ่มหนึ่งคือคณะกรรมการPPPมีอำนาจยกทรัพยากรให้เอกชน ซึ่งที่มาของคณะกรรมการมี 7 อรหันต์ ที่เรียกว่าผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งจะเป็นใครมาจากไหนก็ได้ และอาจเป็นคนที่มีผลประโยชน์กับเอกชนได้
ศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ช่องว่างสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือเปิดโอกาสให้สัญญาที่เอกชนทำกับรัฐไว้ เมื่อใช้ไปสักพักสามารถแก้ไขสัญญาได้ภายหลัง เพราะปัจจุบันนักการเมืองเข้ามาควบคุมการออกกฎหมายและเขียนกฎหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในกระแสทุน นักการเมืองพยายามออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองสามารถตักตวงประโยชน์จากทรัพย์กรได้
ศรีสุวรรณ ประกาศว่า ตอนนี้อำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารรวมกันไปแล้ว ส่วนตัวแล้วจึงยังเชื่อในอำนาจตุลาการที่เหลืออยู่ในการถ่วงดุล ดังนั้นในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2556 จะนำเรื่องไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 28 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169
อ่านเพิ่มเติม: