สรุปการเสวนา “อำนาจประชาชนพิชิตอำนาจรัฐ”

การเสวนาโต๊ะกลม “อำนาจประชาชนพิชิตอำนาจรัฐ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย.52 ที่โรงแรมเซ็นจูรี ปาร์ค และได้พูดคุยกันใน 3 ประเด็น คือ การยกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคง การหยุดยั้งการซ้อมทรมาน และเสรีภาพในการชุมนุม

งานนี้ดำเนินรายการโดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw โดยประเด็นเรื่อง การยกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคงนั้น มีตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ภาคใต้ ประทับจิต นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์ เป็นผู้เปิดประเด็น จากนั้นจึงเปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็น และหาข้อสรุป

กฎหมายด้านความมั่นคงกับคำถามที่ต้องตอบให้ได้

หากย้อนกลับไปพิจารณาที่มาของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับคือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จะพบว่า พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ ในขณะที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถูกออกแบบเพื่อจัดการกับปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยา โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช. ซึ่งจากปรัชญาการสร้างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับไม่ชอบมาตั้งแต่แรกเพราะไม่ได้ยืนอยู่บนฐานประชาธิปไตย
ที่สำคัญคือทั้ง 3 ฉบับถูกสร้างขึ้นเพราะ “รัฐ” เห็นว่าเกิด “ภัย” คุกคาม อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ การนิยามคำว่า “ภัย” ของภาครัฐนั้น อยู่บนพื้นฐานอะไร ซึ่งไพโรจน์ พลเพชร ประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“ที่ต้องถกกันคือ ความมั่นคง คืออะไร เช่น การคุกคามจากต่างชาติ แบบนี้ก็ต้องมีกฎหมายเพื่อป้องกัน ในสังคมที่มีภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ก็จะมีกฎหมายออกมาต่อต้านเต็มไปหมด ปัจจุบันก็มีกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายอยู่ในกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ในสมัยทักษิณเป็นนายกสำหรับกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับก็ต้องมาถามว่าอะไรคือภัยคุกคามที่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ เพราะต้องมีสถานการณ์ไม่ปกติเท่านั้นจึงจะใช้อำนาจไม่ปกติ”
หากเป็นอย่างที่ไพโรจน์ว่า ก็เท่ากับ “รัฐ” ได้ยอมรับว่าสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้เข้าไปควบคุมว่าเป็นสถานการณ์ “พิเศษ” ซึ่งอำนาจรัฐในภาวะปกติไม่สามารถจัดการได้
 
นอกจากที่มาของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะมีปัญหาแล้ว เนื้อหาเองก็ยังคลุมเครือและขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่เชื่อในสิทธิเสรีภาพ เพราะให้อำนาจคนเพียงกลุ่มเดียวในการตัดสินใจประกาศใช้กฎหมาย
หากพิจารณากฎหมายทั้ง 3 ฉบับเปรียบเทียบกันแล้ว พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้อำนาจในการวินิจฉัยเพื่อประกาศใช้เป็นของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีจึงจะประกาศใช้ได้ เท่ากับเป็นการกรองอำนาจอีกชั้นหนึ่ง ในขณะที่กฎอัยการศึกให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหาร ณ ที่ซึ่งมีสงครามหรือจลาจลเกิดขึ้น ในการประกาศใช้
ข้อความใน พรบ.ความมั่นคงมีความคลุมเครือ และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการวินิฉัยค่อนข้างมาก เช่น ในกรณีที่อาจจะเกิดความไม่มั่นคงก็ให้นายกประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงได้ หมายความว่า ถ้านายกฯ คิดว่าจะเกิดความไม่มั่นคงก็ประกาศใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพได้แล้ว การละเมิดสิทธิเป็นเรื่องหลักหรือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก ถ้าคิดว่าการคุ้มครองเป็นเรื่องหลัก ต้องมีเหตุอันควรจริงๆ จึงจะละเมิดได้ แต่ใน พรบ.ความมั่นคง แค่คิดว่าจะเกิดก็ละเมิดได้แล้ว” ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ
ตัวแทนคนทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดเป็นสถานการณ์พิเศษกว่าพื้นที่อื่น หากมองอย่างเป็นกลางจะเห็นว่ารัฐเองก็ต้องการจัดการปัญหา แต่หากมองในมุมชาวบ้านก็ต้องบอกว่าชาวบ้านต้องการแค่กฎหมายธรรมดา คือ กฎหมายอาญาเหมือนกรณีอื่นๆ
ประทับจิต นีละไพจิตร เห็นว่า กฎหมายพิเศษที่ใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเงื่อนไขทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธ ปิดล้อม จับกุม ทรมาน บังคับให้บุคคลสูญหาย แต่หลายครั้งใช้เพื่อจัดการความแตกต่างหลากหลายด้านชาติพันธุ์ ความคิด
“กฎหมายเหล่านี้ยืนอยู่บนฐานชาตินิยมสุดโต่ง จึงไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เพราะยืนอยู่บนความคิดในแบบความสงบราบคาบ ไม่มีความแตกต่างอยู่เลย กฎหมายเหล่านี้ละเลยปัญหาเรื้อรังของภาคใต้ เช่น ความยากจน การศึกษา ปัญหายาเสพติด และปัญหาทุนข้ามชาติซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง พรบ.ความมั่นคงคงจัดการกับปัญหาเหล่านี้ไม่ได้” 
นักรัฐศาสตร์อย่าง ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เห็นว่า ควรยกเลิกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ เพราะกฎหมายทั้ง 3 ฉบับทำงานบนการให้อำนาจรัฐบอกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่ในฐานะเสรีชน ในฐานะประชาชน คงไม่จำเป็นต้องบอกว่าเหตุผลของรัฐถูก ประชาชนสามารถมีเหตุผลของตัวเองได้ ซึ่งกฎหมายทั้ง 3 ฉบับให้อำนาจรัฐบอกว่าอะไรคือความมั่นคง ซึ่งในฐานะพลเมือง ประชาชนต้องเอาสิทธิเสรีภาพเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เหตุผลของรัฐเป็นตัวตั้งในการออกกฎหมาย แต่ประชาชนมักจะดูเหตุผลของรัฐก่อน ว่ามีการก่อการร้ายจริงหรือไม่ มีภัยต่อรัฐหรือไม่
 
“ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ทำงานบนความคิดไปเองว่า ถ้าใช้วิธีประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งรู้ได้อย่างไรว่าวิธีการประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วก็คิดไปเองอีกว่า ถ้าใช้วิธีรุนแรงจะทำให้สถานการณ์กลับเป็นปกติได้ แต่สุดท้ายแล้วไม่มีฐานความคิดที่ชัดเจนอะไรรองรับเลย” 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับทำหน้าที่จำกัดคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้วิธีการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย เพราะหากพิจารณาแล้วจะพบว่าการชุมนุมทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างมีผู้ชุมนุมค่อนข้างมากนั้น การใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับเพื่อทำหน้าที่ควบคุมกลับไม่ค่อยได้ผล แต่กฎหมายทั้ง 3 ฉบับกลับส่งผลกระทบต่อ “คนเล็กๆ” เช่น สมัชชาคนจน ที่ต้องสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐจากการชุมนุม ทำให้ “คนเล็กๆ” ไม่กล้าชุมนุม เนื่องจากรัฐเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัยว่า การชุมนุมแบบใดเป็นประชาธิปไตยและการชุมนุมแบบใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
การเสวนาในประเด็นกฎหมายด้านความมั่นคงทั้งเรื่องที่มา หลักการ เนื้อหา และผลกระทบของกฎหมาย ที่มีต่อประชาชน ผู้เข้าร่วมเสวนามีความเห็นสอดคล้องกันว่าสมควรยกเลิกกฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ โดยผู้สนใจสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ http://ilaw.or.thและติดตามความเคลื่อนไหวการยกเลิกได้ในเว็บไซต์ดังกล่าว

“ซ้อมทรมาน” เรื่องคลาสสิกในกระบวนการยุติธรรมไทย

“กรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้ ก็จะเกิดภาวะการทรมานได้เยอะกว่าภาวะปกติทั่วไป โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ หรือในภาคเหนือที่มีการประกาศกฎอัยการศึก” จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงปัญหาการซ้อมทรมาน ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ
 
ข่าวการใช้กระแสไฟฟ้าช็อตอวัยวะเพศ ปัสสาวะรดหน้า ให้เปลือยกาย ให้อดอาหาร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นข่าวหน้าแรกบนหนังสือพิมพ์หัวสีอยู่เสมอว่า เจ้าหน้าที่ของไทยใช้วิธีการเหล่านี้กับผู้ต้องหา เพื่อให้ได้รับความทุกข์ทรมานและสารภาพออกมาในที่สุด
 
การซ้อมทรมานผู้ต้องหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ จนถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับโลก ในทางสากลมี “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี” ที่ประเทศไทยเองก็เป็น 1 ใน 141ประเทศที่ร่วมลงนามในอนุสัญญานี้ตั้งแต่ปี 2550
 
ความหมายของการร่วมลงนามในอนุสัญญา น่าจะหมายความได้ว่าประเทศไทยก็เห็นความสำคัญของปัญหาการซ้อมทรมาน แต่ว่าหากจะแก้ปัญหานี้ให้จริงได้นั้น การลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จำเป็นต้องกลับมาปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ใช้อยู่ในประเทศให้เอื้อต่อการป้องกันและหยุดยั้งการซ้อมทรมานด้วย ซึ่งอาจทำได้ทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา โดยเขียนให้ระบุชัดว่า การซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นอาชญากรรม เพิ่มโทษของเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิประชาชน หรือตราเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานเป็นการเฉพาะ
 
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำลังร่างกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมาน กล่าวถึงความจำเป็นที่อยากให้มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ซ้อมทรมานว่า เจ้าหน้าซึ่งมีบทบาทคุ้มครองประชาชนและบังคับใช้กฎหมาย หากไปใช้วิธีการทรมานเพื่อรีดเอาข้อมูล ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิทั้งทางร่างกายและจิตใจ และขั้นตอนต่อจากนั้นที่ประชาชนต้องสู้คดีต่อก็เป็นเรื่องยาก เพราะกระบวนการยุติธรรมของไทยซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน เข้าถึงยาก และมีต้นทุนสูง ดังนั้น การเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีที่ถูกซ้อมทรมานจึงดูเป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้นได้
 
ปัจจุบัน เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการซ้อมทรมาน โดยทางเครือข่ายเองก็คำนึงถึงข้อถกเถียงในสังคมถึงความจำเป็นเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน เช่น สังคมอาจมีคำถามว่า อาจมีบางกรณีที่จำเป็นต้องใช้การทรมาน หรือมองว่า การปกป้องคนส่วนใหญ่อาจต้องลิดรอนสิทธิของคนส่วนน้อย
พุทธณี กางกั้น จากคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า การทรมานเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในแวดวงต่างชาติ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 มีการพูดถึงการก่อการร้ายและเริ่มมีการตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินจริงๆ เป็นสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต การทรมานจะเกิดได้ไหม เช่น มีการจับผู้ต้องสงสัยมาแล้วเรารู้ว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ที่รู้ว่ามีระเบิดซุกซ่อนอยู่ และเป็นผู้เดียวที่รู้ว่าระเบิดอยู่ทีไหน ก็มีการถกเถียงกันว่าการทรมานเกิดขึ้นได้ไหม เพราะอาจเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้ผู้ต้องหาปริปาก แต่หลักการทั่วไปนั้น การทรมานเกิดขึ้นไม่ได้
 
ด้านจันทร์จิราเล่าถึงกรณีที่มักพบเห็นว่า เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องหามาได้ แต่ผู้ต้องหาไม่ยอมรับ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถหาพยานหลักฐานหรืออ้างว่าไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ กรณีเช่นนี้ บางส่วนของสังคมอาจพร้อมที่จะยอมรับว่า สามารถทรมานเพื่อให้สารภาพแล้วจะได้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นต่อไป เรื่องนี้ขัดกับหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทในการคุ้มครองประชาชน แต่กลับไปละเมิดสิทธิเสียเอง
 
“สิทธิในชีวิตและร่างกายของคนเราจะถูกละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะฉุกเฉินแค่ไหน หรืออยู่ในภาวะสงครามก็ตาม” จันทร์จิรากล่าว และเสริมว่า “ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพใหญ่ คือเรื่องกระบวนการยุติธรรม “เราก็พอจะจินตนาการถึงอนาคตของกระบวนการยุติธรรมได้ว่ามันจะบิดเบี้ยวไปขนาดไหน ถ้าเจ้าหน้าที่ยังมีวัฒนธรรมการทรมานแบบนี้อยู่ต่อไป”
 
ร่างกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมาน มีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน และตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยจะมีคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ ที่จะเข้ามาดูเรื่องการทรมาน และนำไปสู่เรื่องการเยียวยาในอนาคต คณะกรรมการมีบทบาทช่วยเหลือผู้ที่จะถูกทรมานได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการเยียวยาด้านร่างกายและสภาพจิตใจเบื้องต้นและในอนาคตด้วย
 
ทั้งนี้ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะบัญญัติโทษเกี่ยวกับการทรมานและการกระทำทารุณโหดร้ายอยู่แล้ว แต่สำหรับเรื่องการซ้อมทรมาน ควรแยกเป็นร่างพระราชบัญญัติป้องกันและต่อต้านการทรมาน เพราะมีหลายประเด็นที่มีรายละเอียดจำนวนมาก เช่น เรื่องคณะกรรมการที่ต้องมีความเป็นอิสระในการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องการเยียวยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียด และน่าจะทำได้ดีกว่าหากแยกกฎหมายออกมา ไม่ใช่ไปแก้ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น
“ถ้าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำความผิด แล้วจะให้เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนด้วยกันเองมาตรวจสอบ แล้วผลมันจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าจำเลยบอกว่าถูกทรมานโดยพนักงานสอบสวน แล้วใครจะมาสอบสวนเขาต่อ ซึ่งจะต้องไม่ใช่ชุดสอบสวนชุดเดิม”
 
“การทรมานไม่ใช่การทำร้ายร่างกายโดยปกติ มันระบุชัดเจนในนิยามว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ หรือรู้เห็นเป็นใจโดยเจ้าหน้าที่ วัตถุประสงค์ของการทรมานก็ชัดเจนว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับสารภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร การขู่ให้กลัว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้พิเศษกว่าการทำร้ายร่างกาย ดังนั้นจึงเห็นว่า การทรมานควรมีกฎหมายเฉพาะ รวมทั้งภาระการพิสูจน์การทรมานก็เป็นประเด็นด้วย เมื่อผู้ซ้อมอาจไม่สามารถออกมาจากที่คุมขังได้ ดังนั้น ผู้ที่พิสูจน์ว่ามีการทรมานนั้นควรจะเป็นใคร” พุทธณี กล่าว
จันทร์จิราอธิบายว่า กฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง ก็มีกำหนดไว้บ้าง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 กรณีการฆ่าโดยการทรมาน ซึ่งจะเข้าข่ายมาตรานี้ได้นั้นต้องเป็นกรณีที่ทรมานจนเสียชีวิตแล้ว อีกมาตราคือ มาตรา 296 เรื่องการทารุณกรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
 
“หากมันสามารถบังคับตามกฎหมายนี้ได้ก็ดี แต่เราเห็นว่ามันมีรายละเอียดเยอะ และถ้าจะมีพระราชบัญญัติแยกต่างหาก เราเห็นว่ามันจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายมีความยับยั้งชั่งใจที่จะละเมิดสิทธิคนอื่นมากขึ้น”
 
“บทลงโทษของการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ น่าจะมากกว่าการลงโทษกรณีทำร้ายร่างกายทั่วไป เพราะเจ้าหน้าที่มีบทบาทในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน แต่ถ้าเป็นผู้ละเมิดเสียเองโทษต้องสูงขึ้น แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักว่า กฎหมายนี้จะมีประสิทธิภาพเพราะมีโทษหนักกับเจ้าหน้าที่ แต่เน้นที่กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐที่ใช้ในการทรมาน และเน้นเชิงเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย” จันทร์จิรากล่าว
 
ไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนกล่าวเสริมถึงเหตุผลที่ว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายด้านการซ้อมทรมานว่า การซ้อมทรมานมุ่งตรงไปที่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องมีมาตรการพิเศษโดยเฉพาะ คือ จะป้องกันอย่างไรเมื่ออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ใครจะเป็นคนสอบสวน และที่สำคัญ เทคโนโลยีในการซ้อมทรมานสมัยนี้พัฒนาไปมาก ต้องอาศัยองค์ความรู้ในการตรวจสอบ ไม่ใช่การซ้อมทรมานธรรมดา
 
“เดี๋ยวนี้การซ้อมทรมานมันเรียนกันในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นมันต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพิเศษ นอกจากต้องมีนวัตกรรมในการป้องกันหรือสอบสวนแล้ว การไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพื่อนำเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดมาลงโทษ ก็ต้องมีมาตรการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี โดยสรุปคือ กฎหมายปัจจุบันที่เป็นอยู่ ไม่มีฐานความผิดเรื่องการทรมาน เรื่องนี้ต้องมุ่งตรงไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นฐานความผิดเฉพาะที่เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีกระบวนการพิเศษ”
 
ด้าน .นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เห็นว่า การกระทำที่เกินเลย การทำร้ายร่างกาย การทำลายชีวิตและทรัพย์สิน กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ล้วนมีอยู่แล้ว ดังนั้น เราอาจไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปกับการร่างกฎหมายใหม่ เพราะเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญกว่า แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างที่ถูกที่ควร
 
“ปัญหาใหญ่คือเราจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร การบังคับใช้กฎหมายคือการต้องทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ในการควบคุมของประชาชน ขณะนี้ตำรวจไม่มีประชาชนที่จะไปควบคุมเขาได้ โดยเฉพาะโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มันไม่อำนวยต่อการให้ประชาชนไปดูแล”
 
“องค์กรที่ควบคุมตำรวจน่าจะมาจากสามส่วน ส่วนที่หนึ่งประชาชน ส่วนที่สอง ศาลและอัยการ ส่วนที่สามตำรวจเอง ทั้งสามส่วนนี้ต้องมีเท่าๆ กัน ไม่ใช่ตำรวจเยอะแยะไปหมด และกระจายอำนาจไป ทุกแห่งต้องมีองค์กรแบบนี้ควบคุม นอกจากนั้น การที่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่คนเดียวและควบคุมทั้งประเทศ มันไม่เป็นประชาธิปไตย ตราบใดที่โครงสร้างตำรวจเป็นแบบนี้ ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะว่านักการเมืองก็จะร่วมมือกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำอะไรก็ได้” ศ.นพ.วิฑูรย์กล่าว
 
นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมเสวนาเสนอด้วยว่า ให้มีกล้องวงจรปิดในห้องสอบสวนด้วย และให้เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจ และใช้ความรุนแรงเป็นประจำต้องเข้าการอบรมวิเคราะห์จิตใจ
 
ข้อสรุปต่อเรื่องนี้ คือ ผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ไม่คัดค้าน หากภาคประชาชนจะเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการซ้อมทรมาน เพื่อป้องกันและเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมาน โดยเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการร่างกฎหมายฉบับนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำเนื้อหาพระราชบัญญัติ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะผลักดันด้วยการล่าชื่อเสนอกฎหมายต่อไป 

เพื่อเสรีภาพการชุมนุม มีกฎหมายหรือไม่มี ดีกว่ากัน

ท่ามกลางบรรยากาศที่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐถูกวิพากษ์ว่าหลายมาตรฐานและไม่เป็นที่ไว้วางใจสำหรับประชาชนทั่วไป ทำให้เรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะมีข้อถกเถียงอย่างมากว่า ท้ายที่สุดควรมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของการชุมนุม หรือน่าจะดีกว่าหากนำกลไกรัฐถอยห่างไปให้ไกลจากเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก็คือ ไม่ต้องมีกฎหมายอะไรเลย
หลายรัฐบาลในหลายยุค เคยพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ลักษณะเนื้อหาแต่ละฉบับคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่คือกำหนดขั้นตอนว่าผู้ชุมนุมจะต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนการชุมนุม กำหนดพื้นที่ที่อนุญาตให้ชุมนุมได้ และพื้นที่ที่ห้ามชุมนุม ฯลฯ และล่าสุด คณะรัฐมนตรีก็ได้รับหลักการร่างกฎหมายการชุมนุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอแล้ว
 
อาจจะเห็นได้ว่าการชุมนุมในระยะหลังมักมีเรื่องหวาดเสียวเกิดขึ้น บางครั้งอาจเกิดความวุ่นวายจากสิ่งที่หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจมองว่าอยากให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนที่มาชุมนุม รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ขณะเดียวกัน หลายครั้ง ก็เกิดความรุนแรงขึ้นโดยการกระทำเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง
 
ความลักลั่นเหล่านี้ ทำให้คำถามที่ว่า สังคมไทยควรมีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะหรือไม่ มีคำตอบกระจายออกไปหลายแบบ เพราะบ้างก็เกรงว่ากฎหมายการชุมนุมจะกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินการต่างๆ อันไม่เป็นธรรม บ้างก็ว่าการชุมนุมแต่ละครั้งเกิดความวุ่นวาย กฎหมายอาจดำรงมาตรฐานและช่วยคุ้มครองให้เกิดเสรีภาพการชุมนุมได้มากกว่าเดิม
 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรายละเอียดในร่างกฎหมายการชุมนุมฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า มีการกำหนดให้แจ้งล่วงหน้าก่อนการชุมนุม 5วัน ต้องมีผู้รับผิดชอบในการชุมนุม ระบุขอบเขตสถานที่ชุมนุมว่าห้ามเข้าใกล้สถานที่ต่างๆ เช่น ห้ามเข้าใกล้พระราชวังเกิน 500เมตร โรงพยาบาล 200เมตร และไม่ปิดล้อมสถานที่ราชการ
 
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอำนาจเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตให้มีการชุมนุม ว่าจะมีคณะกรรมการ ซึ่งในส่วนกรุงเทพฯ คือ ผบช.. และต่างจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีนายกอบจ.เป็นรองประธาน
 
“ข้อสังเกตของผมคือ ถ้าออกมาแบบนี้ก็ลำบาก เพราะพี่น้องกำลังจะขัดแย้งกับราชการเป็นหลัก ตรงนี้จะเป็นอุปสรรคแน่ เราจะชุมนุมได้ยากมาก การชุมนุมภายใต้กฎหมายนี้ต้องขออนุญาต อำนาจก็อยู่ที่ตำรวจกับ ผู้ว่าฯ” ประภาสกล่าว 
จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัพม์ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นทางหนึ่งในการเรียกร้องเรื่องปากท้องของคนงาน แต่รัฐกลับใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมหลายอย่าง แทนที่คนงานซึ่งมีปัญหากับนายจ้างและจะต่อสู้เรื่องสิทธิประโยชน์กับนายจ้าง แต่ในการต่อสู้นั้นกลับต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
 
ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฉายภาพย้อนหลังให้เห็นว่า เครือข่ายแรงงานชุมนุมเรื่องปากท้องของคนงานหลายครั้ง และเจอการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ เช่น เจอข้อหาบุกรุกโรงงานเมื่อปี 2542ถูกตำรวจพ่นสเปรย์พริกไทยใส่เมื่อปี 2544
 
“จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นยุคไหนรัฐบาลไหน ก็ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม”
 
“ล่าสุด กรณีคนงานไทรอัมพ์ที่ออกมาเรียกร้องถูกเลิกจ้าง 1,599 คน จะไปยื่นจดหมายถึงนายกฯ ที่ทำเนียบ แต่ครั้งนั้นต้องเจอกับเครื่องยิงเสียงความถี่สูงระยะไกล หรือ LRAD การนำเครื่องมาใช้กับคนงานครั้งนั้นถือเป็นการทดลองใช้เป็นครั้งแรก และใช้โดยไม่มีการเจรจาก่อน ในครั้งนั้น ตำรวจภาคภูมิใจมากที่สามารถนำมาใช้ควบคุมมวลชน แล้วตำรวจยังแถมหมายจับให้กับแกนนำอีก โดยใช้ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาเรื่องการมั่วสุมก่อนความวุ่นวายในบ้านเมือง และปิดล้อมสถานที่ราชการ” จิตรากล่าว
 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวว่า แนวโน้มกฎหมายการชุมนุมจะสร้างอุปสรรคให้ผู้ชุมนุม และหากย้อนดูจังหวะความพยายามออกกฎหมายการชุมนุมนั้น จะพบว่า ช่วงแรกคือช่วงการชุมนุมของ นปช.ปิดล้อมบ้านพลเอกเปรม แล้วพอเปลี่ยนขั้วมาเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล การผลักดันกฎหมายการชุมนุมก็เป็นไปอีกแบบ
 
“ประเด็นของผมคือมันถูกหยิบใช้ทางการเมืองตลอดเวลา ไม่ว่าฝ่ายไหนก็แล้วแต่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า กฎหมายการชุมนุมพยายามออกมาเพื่อจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่ แต่ผลบังคับใช้ของมัน ก็เหมือนให้คีโมแต่ไปกระทบคนเล็กคนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัชชาคนจน คนงาน กฎหมายการชุมนุมมีลักษณะเกาไม่ถูกที่คัน โดยหลัก ถ้าต้องฟันธง ไม่มีเสียดีกว่า” ประภาสกล่าว
นายไพโรจน์ พลเพชร สมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนกล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการสลายการชุมนุม คือ ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มไหนไม่ชอบหน้าก็ทำแรงไปเลย กลุ่มไหนรักหน่อยก็เคลื่อนเป็นขั้นตอน
นายไพโรจน์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการบริหาร ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ตำรวจมักจะอ้างเสมอว่าไม่รู้จะจัดการอย่างไร ดังนั้นต้องมีหลักการบางอย่างให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้ด้วย ซึ่งเขาเห็นว่า ควรมีระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ว่าเจ้าหน้าที่จะจัดการกับการชุมนุมอย่างไร
 
“แม้เราเชื่อว่าไม่ต้องมีกฎหมาย แต่จะมีคนผลักดันให้มีกฎหมายจนได้ ในความเห็นผม ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายแม่ แต่จำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน”
 
ด้าน เพ็ญวดี แสงจันทร์ นักกฎหมายจากมูลนิธิดวงประทีปเสนอว่า ท่ามกลางข้อเสนอกฎหมายที่พยายามออกมาควบคุมการชุมนุมนั้น ภาคประชาชนน่าจะร่างกฎหมายที่เน้นย้ำว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของการชุมนุม
“ทำไมเราไม่ร่างกฎหมายที่เป็นลักษณะของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของการชุมนุม อำนวยความสะดวกเรื่องน้ำดื่ม สุขา และต้องมีการลงชื่อและมีองค์กรคุ้มครองมิให้บุคคลที่มาชุมนุมสูญหายเหมือนเหตุการณ์เดือนตุลา ต้องไม่เป็นบุคคลสูญหายดังกรณีพฤษภาฯ และตุลาฯ เราน่าจะร่างกฎหมายทีเกี่ยวกับการคุ้มครอง ไม่ต้องรอให้รัฐหรือตำรวจร่างกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพออกมา” เพ็ญวดีกล่าว
 
ต่อประเด็นการจัดการการชุมนุมนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีมติว่าควรผลักดันให้มีหรือไม่มีกฎหมายภาคประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีจุดยืนร่วมกันว่า หากมีการร่างกฎหมายหรือข้อปฏิบัติที่กำหนดเงื่อนไขขั้นตอนอันเป็นอุปสรรคต่อการชุมนุม ถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นเรื่องที่จะยอมรับไม่ได้ โดยทาง iLawจะรวบรวมข้อกำหนดอันไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับการควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อกำหนดจุดยืนของภาคประชาชนต่อการใช้อำนาจของรัฐต่อเรื่องดังกล่าว