เป็นเอก-ภาสกร: คุ้ยเรื่องเก่า เล่าเรื่องใหม่ ผ่านหนังสารคดี “ประชาธิป’ไทย”

ไม่บ่อยนักที่วงการหนังเมืองไทยจะมี “หนังการเมือง” เข้าฉายในโรง และยิ่งหายากเมื่อหนังเรื่องนั้นเป็นหนัง “สารคดี”

วันที่ 24 มิถุนายน 2556 นี้ จะเป็นวันแรกที่ภาพยนตร์เรื่อง ประชาธิป'ไทย หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Paradoxocracy เข้าฉาย

ความ paradox หรือความขัดแย้งนี้ ไม่เพียงแค่สะท้อนออกมาในเนื้อหาสารคดี ที่ใช้วิธีเดินเรื่องตามไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านมุมมองนักวิชาการร่วมสมัย 14 คน แต่ยังเป็นเพราะคนทำหนังเรื่องนี้ เป็นคนที่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นพวกไม่แยแสเรื่องการเมืองเลยแม้แต่น้อย

ประชาธิป'ไทย (Paradoxocracy) เป็นผลงานของ “ต้อม – เป็นเอก รัตนเรือง” ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยผู้ที่สร้างชื่อจากภาพยนตร์เรื่อง ฝันบ้าคาราโอเกะ, ตลก 69, มนต์รักทรานซิสเตอร์, รักน้อยนิดมหาศาล, พลอย, นางไม้ และฝนตกขึ้นฟ้า “เอก – ภาสกร ประมูลวงศ์” นักเขียน คนทำหนังโฆษณา หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day นิตยสารเด็กแนวที่มีอิทธิพลในฐานะผู้นำความคิด ค่านิยม และอุดมการณ์สำหรับวัยรุ่นวัยแสวงหา

ภาพยนตร์เล่าเรื่องการเดินทางของประชาธิปไตยไทย กำกับและตัดต่อจากมุมมองของคนที่เพิ่งค้นคว้าและเผชิญหน้าทำความเข้าใจความขัดแย้งในสังคมไทย หนังอาจจะเล่าเรื่องเก่าแต่ผ่านมุมมองใหม่ พ่วงประสบการณ์ใหม่ที่ถูกเซ็นเซอร์ด้วยการดูดเสียง 5 จุดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งเป็นเอกและภาสกรบอกว่า คนเราอาจจะไม่จำเป็นต้องสนใจการเมืองก็ได้ตราบที่ยังอยู่ได้สบาย แต่สำหรับพวกเขา เมื่อความขัดแย้งจากการเมืองมันคืบคลานเข้ามาในชีวิตมากขึ้น ก็ถึงเวลาที่เขาจะตัดสินใจเลิกนิ่งเฉย แล้วค้นคว้าหาว่าอะไรคือความหมายของ “ประชาธิปไตย”


อะไรคือสิ่งที่ทำให้สนใจเรื่องการเมือง

ภาสกร: ผมคิดเสมอว่าการเมืองกับผมเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันได้เจอกัน ผมเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองเลย เกิดมาก็เรียนหนังสือตามปกติชาวบ้านเขาเรียนกัน เวลามีถ่ายทอดสดจากรัฐสภา ทะเลาะกันในสภา ผมโคตรจะหงุดหงิด เวลาส.ส.เถียงเรื่องอะไรไม่เป็นเรื่องกันในสภา ก็รู้สึกว่านี่ภาษีกูนะเว้ย สุดท้ายหนักๆ เข้า ข่าวก็ไม่ดู วิทยุก็ไม่ฟัง ผมก็เลิกอ่านหนังสือพิมพ์ไปเลยเพราะผมรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกับผม ผมบอกกับตัวเองว่า หนังสือพิมพ์มีเรื่องเกี่ยวกับผมอยู่สองเรื่องนะ คือดูดวงกับผลบอล อะไรที่เป็นการเมืองผมตัดทิ้งหมดเลย

แล้วมันก็มีการปฏิวัติขึ้น สุดท้ายแล้วก็รู้สึกว่าการเมืองมันใกล้ชีวิตเราเข้ามาเรื่อยๆ ผมก็ต้องกลับมาอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ดีเพราะมันจะมีการเลือกตั้ง ผมต้องรู้บ้างว่าใครจะเป็นนายกฯ ยิ่งกลับไปอ่านก็ยิ่งพบว่าไอ้สิ่งที่ผมคิดว่ามันวิปลาสมาก่อนที่ผมจะเลิกอ่านหนังสือพิมพ์เนี่ย มันยิ่งวิปลาสหนักเข้าไปอีก มันเริ่มมีความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไปไหนไม่รู้แล้ว

ถึงจุดหนึ่งผมเริ่มมาคิดว่า การที่คนรอบข้างอยู่กันแบบงงๆ ทุกคนต่างคิดว่ามีกติกากันคนละเล่ม ขณะที่เราเรียกว่าการปกครองของเราเป็นระบอบประชาธิปไตย แล้วเราเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยเหมือนกันหรือเปล่า ผมกลับมานั่งดูว่าผมได้รับการปลูกฝังยังไงบ้าง ปรากฏว่าไม่เลย ไม่มี ผมไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยเลย นั่นทำให้ผมเริ่มอยากจะรู้แล้วว่าประชาธิปไตยคืออะไร อย่างน้อยที่สุดเพื่อสนองความโง่ของตัวเอง และผมคิดว่ามีคนที่ยังหลับอยู่ทางการเมืองเยอะเลยในสังคมนี้ในประเทศนี้

เพราะฉะนั้น สมมติว่าผมตื่นแล้ว แล้วการตื่นของผมมันจะทำให้คนอื่นตื่นด้วย ผมก็เลยชวนพี่ต้อมมาทำ เพราะผมรู้สึกว่าถ้าผมทำคนเดียวมันจะไม่ไปไกลกว่าที่ผมอยากจะได้

แต่หลายคนชีวิตเปลี่ยนไปหลังแตะเรื่องการเมือง อย่างคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่เลิกทำรายการตอบโจทย์ คนทำหนังโฆษณาที่พอออกมาพูดเรื่องการเมืองแล้ว เอเจนซี่ก็ไม่ให้งาน ไม่คิดว่าการมาทำประเด็นการเมืองจะเป็นความเสี่ยงในชีวิตเหรอ

เป็นเอก: ผมเป็นคนที่ไม่รู้ว่าสถานภาพของผมคืออะไร ผมไม่แคร์ตรงนั้น ถ้าเราเริ่มแคร์สถานภาพตัวเองว่าเราเป็นที่รู้จักในสังคม เราก็ไม่ต้องทำเหี้ยอะไรพอดี คือเราไม่ได้เป็นณเดชน์น่ะ

เมื่อเราพูดถึงชะตากรรมของคนที่จะเสี่ยง อย่างเช่นภิญโญที่ต้องยุติรายการตอบโจทย์ หรือกรณีที่เอเจนซี่ไม่ให้งานโฆษณาเนี่ยนะ ถ้าเราพูดว่า "ดูสิ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ลุกขึ้นมาทำแบบนี้" พูดกันแบบนี้ชะตากรรมนี้มันดูเลวร้ายนะ แต่ในชีวิตจริง การที่เอเจนซี่ไม่ให้งานทำ มันก็แค่คุณไม่ได้ทำงานโฆษณา ชีวิตมันไม่ได้เลวร้ายหรอกฮะ หรืออย่าง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (นักเขียน คอลัมนิสต์) ที่ตัดสินใจลาออกจากสมาคมนักเขียนหรืออะไรต่ออะไร คนพวกนี้นะ ความรู้มีมหาศาล ประสบการณ์ชีวิตมีมหาศาล และมีสติกันทุกคนเลย ถ้าคุณมีสามอย่างนี้แล้วคุณต้องตายไปจากโลกนี้นะ คุณก็ควรจะตายว่ะ มีสามอย่างนี้ชีวิตไม่ล่มหรอกคร้าบ

สิ่งที่จะทำให้ชีวิตคุณเหี้ยและล่มสลาย นั่นก็เพราะว่าคุณไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่เคยมี อยากทำงานโฆษณาแต่ไม่มีใครเอางานมาให้เพราะเป็นเสื้อแดง อยากจะอยู่ในสมาคมนักเขียนต่อไปแล้วไม่ได้อยู่ ถ้าคุณยึดมั่นถือมั่นคุณจะมีปัญหา

แล้วถามว่าทำไมเราเลือกที่จะเสี่ยง คือ เราไม่ได้เลือกน่ะ ไอ้สิ่งนั้นมันเลือกเรา คือมันตกกระไดพลอยโจนมาทำ เพราะมันต้องทำ มันอยากรู้เอง คือหนังเรื่องนี้ไม่ต้องเข้าโรงฉายก็ได้ เราบอกเอกตั้งแต่วันที่เดินออกมาทำแล้ว ให้เรามีเงินร้อยล้านเราก็ไม่มีวันได้เจอคนพวกนี้ในลักษณะนี้หรอก ไม่มีวันได้เจออาจารย์ ส. (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ไม่มีทางได้เจออาจารย์ธงชัย (ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ม.วิสคอนซิล) แบบนี้ ไม่มีวันได้เจออ.วรเจตน์ (รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์) แบบนี้ ยังไงมันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มแล้ว ตาเราสว่างขึ้นไม่รู้กี่เท่า

ฉะนั้น เสี่ยงไหม… เสี่ยงกะอะไรวะ?

ภาสกร: เจตนารมณ์เราไม่ได้จะสร้างความขัดแย้ง ผมสังเกตว่าประเทศที่เจริญ ไม่ใช่ว่ารวยนะ แต่สังคมที่เจริญแล้ว เพราะมันมีความตื่นตัวทางการเมือง แม้ในประเทศที่ยากจนกว่าเรา แต่ถ้าประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มันทำให้สังคมเคลื่อนที่กันไปได้โดยไม่ได้บ้าเงินอย่างเดียว ผมแค่รู้สึกว่าผมอยู่ในจุดที่ผมควรจะรู้แล้วว่าประชาธิปไตยอย่างน้อยที่สุดหน้าตาเป็นยังไง ถ้าโจทย์นี้อยู่ในมือนักเขียนเขาคงเขียนหนังสือกัน เป็นครูคงออกไปหาความรู้แล้วมาสอนหนังสือ แต่เราเป็นคนทำหนัง

 

"พอบอกว่าทำสารคดีเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย
คำถามแรกคือ แล้วจะโดนเซ็นเซอร์ไหมพี่?
แล้วพี่จะติดคุกไหมพี่? มันจะเป็น 2-3 คำถามแรก
ทำไมคำถามไม่เป็นว่า แล้วพี่รู้เรื่องมันเหรอ?

แสดงว่าคำว่าประชาธิปไตยในสังคมเรา
มันมาพร้อมกับคำว่า ต้องห้าม"

– เป็นเอก รัตนเรือง

 

จากโจทย์ที่ว่าประชาธิปไตยคืออะไร พอคิดเป็นหนังสารคดี เริ่มต้นและวางแนวการเดินเรื่องยังไง

ภาสกร: เวลาที่เราพูดว่าเราจะทำหนังเรื่องประชาธิปไตย ก็มีคนเป็นห่วงเป็นใยกันฉิบหาย บางคนก็บอกว่า มีหลักทรัพย์ประกันตัวแล้วหรือยัง?

เป็นเอก: พอบอกว่าทำสารคดีเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย คำถามแรกคือ แล้วจะโดนเซ็นเซอร์ไหมพี่? แล้วพี่จะติดคุกไหมพี่?มันจะเป็น 2-3 คำถามแรก ทำไมคำถามไม่เป็นว่า แล้วพี่รู้เรื่องมันเหรอ? แสดงว่าคำว่าประชาธิปไตยในสังคมเรามันมาพร้อมกับคำว่าต้องห้าม

ภาสกร: ตอนที่เราจะทำ เราค้นคว้าประมาณปีครึ่ง แล้วเราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า หนังสือที่ขายตามร้านหนังสือ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมันไม่ค่อยมีหรอกครับ มันจะมีซุกอยู่ในหลืบ

เป็นเอก: มันหาไม่ได้เพราะไอ้ร้าน Book Re:public มันกวาดซื้อไปหมด (หัวเราะ)

ภาสกร: เราก็อ่านเยอะ แล้วก็หาดูว่าใครเป็นคนเขียน หลายครั้งที่เราอ่านเราก็จะรู้สึกว่าเขาเขียนไม่หมด เรายังอยากรู้อีก เราก็คิดว่ามันน่าจะดีถ้าเราไปสัมภาษณ์คนที่เขียนหนังสือเหล่านั้น อย่างอาจารย์นครินทร์ (ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) เขียนหนังสือเรื่อง 2475 โคตรดีเลย เล่มนี้มีประโยชน์มาก แทบจะเป็นต้นทางของผมได้เลย อ.ชาญวิทย์ (ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ก็เขียนหนังสือโคตรดีเลย และอีกอย่างคือ ดูตามเวทีเสวนาว่าใครพูดอะไร เราก็ไปสัมภาษณ์คนเหล่านั้น

เป็นเอก: หนังเรื่องนี้มันทำจากมุมมองของคนที่ไม่รู้อะไรเลย มันไม่ได้ทำจากมุมมองของคนที่รู้มาก มันทำจากมุมมองของคนที่รู้น้อยมาก มันก็เลยเลือกที่จะเดินทางแบบนี้ ด้วยการไปหาคนที่รู้เยอะมาพูด

ภาสกร: ตอนแรกไม่ได้คิดจะเดินเรื่องแบบนี้เลย หนังเล่าเรื่องด้วยการเดินทางตั้งแต่ พ.ศ.2475 เราก็คิดว่า เอจะเล่าเรื่องยังไง ก็คุยกันว่าไปถ่ายคลองกันไหม หรือจะถ่ายหนังสือเรียน หรือเคยถึงขนาดจะให้พี่ต้อมขึ้นแท็กซี่แล้วถ่ายพี่ต้อมคุยกับแท็กซี่ แต่สิ่งที่แปลกประหลาดมากสำหรับหนังเรื่องนี้คือ หนังเรื่องนี้มันค้นพบฟอร์มของมันเอง มันจะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตของมันเอง เราเหมือนเป็นพ่อแม่ให้มันเกิดมาแล้วเลี้ยงดูมันเป็นอย่างดี ส่วนมันจะเรียนจบดอกเตอร์หรืออะไรมันต้องเดินด้วยตัวเอง หลายครั้งหนังมันแสวงหาหนทางของมัน ยกตัวอย่างเช่น เราพอใจแล้ว ตัดเสร็จแล้ว แล้วก็ฉายให้นักวิชาการที่เป็นตัวละครที่อยู่ในหนังดู ฉายเสร็จแล้วเชื่อไหมว่า เรานั่งคุยกับพี่จี๊ด (จิระนันท์ พิตรปรีชา) และหนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด) จากสามทุ่มถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง

เป็นเอก: แล้วด่าหนังเราเช็ดเลย

ภาสกร: พี่จี๊ดก็พูดว่า ทำไมหนังเราไม่มีเรื่องของชนชั้นกลาง เราก็แบบ เออเว้ย ลืม.. คือไม่ได้ลืมหรอก เราก็กลับไปถ่ายต่อ

เป็นเอก: มันมีเรื่องที่เราไม่รู้ เรื่องที่เป็นจิตวิทยาของสังคม ตอนที่ทำก็ไม่ได้คิดถึงตรงนี้ พี่จี๊ดแกก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมา เราก็ต้องออกไปทำกันใหม่อีกรอบ

ที่เอกบอกว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันเป็นเด็กคนหนึ่งมันจะโตขึ้นมายังไงมันเลือกทางของมัน มันยังเรียนไม่จบนะ มันยังต้องทำต่อนะ เพราะตอนนี้มันก็ยังขาดเรื่องสำคัญๆ ที่ยังไม่ได้พูดถึง เรื่องนี้มันพูดถึงการเข้ามาสวมหน้าของทักษิณ แต่มันยังไม่ได้พูดถึงตอนที่ทักษิณถูกปฏิวัติ เรายังทำไม่ถึง และเรื่องพฤษภาทมิฬในตอนนี้เราแตะน้อยไปหน่อย และเรื่องมาตรา 112 นี่ก็ยังไม่ได้พูดถึงเลย ซึ่งคุณทำหนังเรื่องประชาธิปไตยคุณจะไม่พูดเรื่องนี้มันก็ไม่ได้

เรื่องการปฏิวัติกับเรื่องมาตรา 112 มันเป็นของที่คู่กันมากับประชาธิปไตยไทย ตอนนี้ยังไม่ได้อยู่ในหนังเรื่องนี้มากพอ ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำไมมันถึงผ่านเซ็นเซอร์ด้วยมั้ง ถ้าจะพูดถึงชะตาชีวิตของคนทำ ไว้เป็นห่วงกันตอนที่ไอ้อันต่อไปนั้นเสร็จดีกว่า

ทำหนังแล้ว ได้คำตอบไหม ว่าความหมายของประชาธิปไตยคืออะไร

ภาสกร: ผมมีความรู้สึกว่า เรื่องเก่ามันเป็นเรื่องใหม่ คือเรื่องเก่าที่เราไม่รู้มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา ยิ่งเราค้นเราก็ยิ่งเจอ ยกตัวอย่างเช่นตอนทำสารคดีเรื่องนี้ ผมเคยตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ผมใช้เวลาอยู่ประมาณสี่เดือนในการหาว่ามันคืออะไร พอเรารู้สึกว่าเราจะหามันเจอแล้วมันก็ไม่ใช่ พอเราคุยกับอ.ชาญวิทย์ มันก็แบบหนึ่ง พอเราไปคุยกับอ.ธงชัย อันนี้ไปใหญ่เลย เปิดสมองเลย ไปไม่ถูกเลย ขณะที่คิดว่าเข้าใจไปหมดแล้ว มันก็ยังมีความงงไปหมด

สุดท้ายแล้วเราก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ต้องไปหาคำตอบให้มัน ว่ามันคืออะไร ก็มันคือประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าเราไปหาความหมายให้มัน มันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าเขาคิดอย่างงั้นก็ปล่อยให้เขาคิดอย่างนั้นไปสิ มันเป็นสิทธิของเขาตราบที่ไม่ได้ไปรบกวนสิทธิของอีกคน พอคิดแบบนี้แล้วก็สบายตัวแล้ว ก็เล่นไทม์ไลน์เลย

ประชาธิปไตยสำหรับผม มันคือความสบายอย่างหนึ่งที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะยากดีมีจนชั่วดียังไง เรามีคนละหนึ่งหุ้นในประเทศนี้ เกิดมามีหนึ่งหุ้นเท่ากัน และตราบที่เรารักษาหุ้นของเราไว้และใช้มันอย่างคุ้มค่าเต็มที่ นั่นล่ะคือประชาธิปไตย

เปรียบเทียบเหมือนพ่อ แม่ ลูก สามคนเดินทางไปด้วยกัน พ่อจะกินอาหารญี่ปุ่น แม่จะกินอาหารเวียดนาม ลูกจะกินอาหารไทย ก็ประชาธิปไตยแล้วว่าต้องหาทางออกกันยังไง

เป็นเอก: ที่ว่านี่เป็นประชาธิปไตยแบบจริงไง แต่ประชาธิปไตยที่สเกลใหญ่กว่านั้น พอมันไม่ใช่เรื่องครอบครัว สิ่งที่ทำให้มันซับซ้อนคือมีขาอื่นที่แชร์โครงสร้างอำนาจอยู่ ในบ้านมันมีแค่พ่อ แม่ ลูก แต่ในประเทศมันไม่ใช่ มันก็มีสถาบันฯ เขาก็แชร์อยู่ในโครงสร้างอำนาจด้วย ก็เมื่อก่อนเขาไม่ต้องแชร์ใครเลย อำนาจเป็นของเขาทั้งหมดมาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กองทัพก็ต้องแชร์ มันก็เลยซับซ้อนขึ้นมาก และเป็นที่มาว่าทำไมคำถามแรกเมื่อคนรู้ว่าเราจะทำหนังเรื่องประชาธิปไตยถึงเป็นคำถามว่า แล้วจะรอดไหมพี่

เพราะประชาธิปไตยในสังคมเรามันมีความซับซ้อน มันไม่ได้ซับซ้อนในแง่ของการเดินทางของตัวประชาธิปไตยหรอก การเดินทางแม่งโคตรซื่อเลย มีเหตุการณ์ที่เป็น landmark ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้อยู่ประมาณสัก 6-7 เหตุการณ์เอง ซึ่งตามเส้นได้ง่ายมาก แต่การแชร์อำนาจกันของสามขา การเมือง กองทัพ แล้วก็สถาบัน ที่ต้องแบ่งเค้กกันให้ลงตัว มันมีความซับซ้อนระหว่างทางเต็มไปหมด

ประชาธิปไตยมันถูกเข้าใจไปว่ามันเป็นระบอบ แต่จริงๆ มันเป็นวิถีชีวิตมากกว่า เราว่าปัจจุบันที่มันตีกันแบ่งเป็นฝักฝ่ายเป็นกีฬาสี เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองหรือปรัชญาความเชื่อทางการเมืองมันยิ่งใหญ่กว่าความเป็นมนุษย์ไปแล้ว ระบอบประชาธิปไตยไปในประเทศนี้ มันจะน่ารำคาญแค่ไหนก็เถอะ มันต้องนับความเป็นมนุษย์ของคนในสังคมไปด้วย มันเลยอาจเป็นที่มาของวาทกรรม “แบบไทยๆ” เราจะไปดูแคลนวาทกรรมนี้เลยร้อยเปอร์เซนต์มันก็ไม่ถูกนะ เราต้องคิดว่า ก็สังคมมันประกอบไปด้วยมนุษย์ มันไม่ใช่หุ่นยนต์ที่กดปุ่มปั๊บแล้วจะเข้าใจทุกอย่างพร้อมกันได้หมด เราต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ด้วย     สิ่งที่น่าสังเกตคือ การที่บอกว่าเรื่องการเมืองอย่าคุยกัน เดี๋ยวต่อยกัน มันก็แปลว่าคนตื่นตัวทางการเมืองเยอะมาก ไม่งั้นมันไม่ต่อยกัน แสดงว่าตอนนี้เรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องในหัวคนเหมือนกันนะ แล้วเผลอๆ เรื่องการเมืองซึ่งจะทำให้คนต่อยกันได้เนี่ย อาจจะเป็นเรื่องที่มีความหมายยิ่งกว่าเรื่องการทำศัลยกรรมให้หน้าเหมือนดาราเกาหลี เพราะว่าเรื่องนั้นไม่มีใครต่อยกันหรอก

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเรื่องดีใช่ไหม

เป็นเอก: ถูก ผมยืนยันว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องดี การถวิลหาวันเวลาที่สงบแบบเก่าๆ ..มึงอ่ะเพ้อเจ้อ! ที่ถวิลหาวันเวลาแบบนั้น คนมันตื่นตัวทางการเมืองขนาดนี้แล้ว ไอ้ชาวนาที่ทำนากันแบบที่คุณเคยคิดมันไม่มีแล้ว เขาตื่นตัวทางการเมืองกันหมดแล้ว ความสงบอย่าไปถวิลหามัน สังคมที่สงบคือสังคมที่ตายห่าแล้ว ไม่หายใจแล้ว เราต้องคิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องดี ขอร้อง อย่าปฎิวัติ (หัวเราะ) และก็อย่าตีกัน แค่นั้นเอง

ที่ว่า "ขอร้องอย่าปฎิวัติ" นี่เป็นความคิดที่เพิ่งมีหลังทำหนังเรื่องนี้หรือเปล่า

เป็นเอก: ……………… ใช่ … เรานะ

ภาสกร: ครับ ไอ้ปฏิวัติครั้งล่าสุดผมเฉยๆ มากเลยนะ ก่อนหน้านั้นมันก็มีกระแสว่าจะปฏิวัติๆ แล้วพอปฏิวัติ ผมเจอหน้าพี่ต้อมที่สตาร์บัคส์ ก็บอกกันว่า “ในที่สุด” …ตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร

เป็นเอก: คือเวลามีปฏิวัติขึ้นหนึ่งครั้ง มันก็จะมีสองกรณีคือ ไอ้ฝั่งที่มันปฏิวัติ เมื่อปฏิวัติสำเร็จก็ต้องมากล่อมพวกเราที่ไม่ค่อยรู้อะไรว่า ไอ้เหี้ยมันโกงไง มันกำลังทำบ้านเมืองฉิบหาย จึงต้องปฏิวัติ แล้วคนอย่างเราก็เชื่อทันทีครับ ถ้าไม่ทำหนังเรื่องนี้ เราอาจยังเชื่ออย่างนั้นอยู่ก็ได้ หลายๆ อย่างเกิดขึ้นหลังทำหนังเรื่องนี้

ภาสกร: นี่ก็เป็นข้อดีข้อหนึ่งของทักษิณนะที่ทำให้เราตื่นตัว ไม่งั้นเราไม่สวิงขนาดนี้

เป็นเอก: แต่พอเราพูดจาแบบนี้ปั๊บ ดันไปคุยกับเพื่อนที่เป็นเสื้อแดง เขาก็จะคิดว่า โห พี่เป็นเสื้อแดงแล้วเว้ย คราวนี้เขาก็จะฮาร์ดคอร์ใส่เราเต็มที่ ทีนี้เราก็จะอ้วก เพราะว่ากูไม่ได้ชอบทุกอย่างที่มึงชอบไง คือกูพูดจาแบบนี้เพราะกูตาสว่างขึ้น และกูมีความคิดเห็นบางอย่างที่กูเห็นว่ามันไม่ถูกต้องและอยากพูด มันบังเอิญไปเข้าล็อคมึง เพราะฉะนั้น ช่วยกรุณาอย่าคิดว่ากูเป็นเสื้อมึง หรือวันไหน นั่งด่ารัฐบาลเพื่อไทยหน่อย เสื้อเหลืองก็บอก เฮ้ยมันยังเสื้อเหลืองเว้ย ไม่ใช่ ความคิดเห็นของกูเรื่องนี้มันบังเอิญไปลงช่องมึง มึงเลยคิดว่ากูเป็นเสื้อมึง เราไม่ได้เป็นพวกใครเลย

ภาสกร: อย่างงี้เขาจะเรียกว่าสลิ่ม

เป็นเอก: สลิ่มฮะ เมื่อก่อนจะรู้สึกโกรธๆ ที่มีใครมาเรียกเราว่าสลิ่ม แต่ตอนนี้เรียกกูว่าอะไรก็ได้ แต่กูไม่ใช่พวกไร้สติ กูจะมีสติให้มากที่สุด มึงจะเรียกกูว่าอะไรก็เรียกไปเหอะ

 

 

"เมื่อก่อนตอนเริ่มลงมือทำหนัง จะมีความคิดตลอดว่า
มันจะเป็นกลางดีไหม มันจะเหลืองไหม มันจะแดงไหม
คิดแต่เรื่องไร้สาระพวกนี้ พอเจออาจารย์ธงชัย…
เราก็เห็นทางสว่างขึ้นมาว่า ไอ้เหี้ย! มึงไม่ต้องเป็นกลางนี่หว่า
ใครบอกมึงต้องเป็นกลาง
ก็มึงไม่เป็นกลางก็อย่าเป็นกลาง แต่อย่าเสียสติ
"

– เป็นเอก รัตนเรือง

 

ความเห็นจากนักวิชาการที่อยู่ในหนัง เขาว่าออกมาดีไหม

เป็นเอก: ไม่ดีอะครับ แต่ละคนเขาก็มีความคิดเห็นว่าหนังที่เราทำควรจะเป็นยังไง เพราะความรู้เรื่องสังคมวิทยาประชาธิปไตยของคนเหล่านี้มันไปถึงจุดที่มากกว่าคนอย่างเราเยอะมาก เนื่องจากมีชื่อเราเป็นคนทำ เขาก็คาดหวัง แล้วพอไม่ใช่สิ่งนั้น ก็จะผิดหวัง คอมเมนท์มันไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดีหรอกครับ บางคนเขาก็จะบอกว่า ทำไมมันมีแต่เรื่องของนักวิชาการ ทำไมไม่เป็นเรื่องของมนุษย์มากกว่านี้ คนเดินดินไปไหนหมด รากหญ้าไปไหนหมด วินมอเตอร์ไซค์ไปไหน บางคนก็ว่าสิทธิมนุษยชนหายไปไหนหมดในหนังเรื่องนี้ แต่ เนื่องจากที่มันเป็นก้าวแรกของเราที่มาทำเรื่องนี้เราไม่อยากให้มันเลอะเทอะ เพราะตัวเราจะควบคุมไม่อยู่ เราเลยเลือก แต่นี่มันก็ไม่ตรงใจเขา

ภาสกร: อาจารย์ธงชัยให้กำลังใจเราดีมาก

เป็นเอก: แกอีเมลมาหาพวกเราอยู่เรื่อยๆ เลยฮะ ทุกครั้งที่เราท้อ ทุกครั้งที่เรากำลังแย่ แกส่งมาบอกว่า หนังคุณมันก็เหมือนลูกคุณ ใครจะว่าไงคุณก็ต้องภูมิใจ คนคนนี้เข้ามาในชีวิตเรา แล้วแกเป็นคนที่มีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์สูงมากๆ จริงๆ แกเป็นคนที่ทำให้หนังเราเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน พอไปเจอแก จากการไปฟังสิ่งที่สัมภาษณ์ มันทำให้เราเปลี่ยนหนังเยอะมาก คือเมื่อก่อนตอนเริ่มลงมือทำหนัง จะมีความคิดตลอดว่า มันจะเป็นกลางดีไหม มันจะเหลืองไหม มันจะแดงไหม คิดแต่เรื่องไร้สาระพวกนี้ พอเจออาจารย์ธงชัย บวกกับความที่ตัดหนังแล้วต้องนั่งฟังสิ่งที่แกพูดในหนังเป็นร้อยๆ รอบ คล้ายๆ เหมือนฟังธรรมะ กล่อมจนอยู่ๆ เราก็เห็นทางสว่างขึ้นมาว่า ไอ้เหี้ย! มึงไม่ต้องเป็นกลางนี่หว่า ใครบอกมึงต้องเป็นกลาง ก็มึงไม่เป็นกลางก็อย่าเป็นกลาง แต่อย่าเสียสติ

หนังเรื่องนี้เซ็นเซอร์ตัวเองไหม

เป็นเอก: เซ็นเซอร์ครับ

ภาสกร: แน่นอน แน่นอน แน่นอน หนังเรื่องนี้ นอกจากที่มันจะเป็นสารคดีประชาธิปไตยแล้ว ส่วนหนึ่งมันก็ทำหน้าที่ บันทึกสภาพสังคมตอนนี้ด้วยนะ เราทำสารคดีเรื่องนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นการบันทึกสังคมว่าเรามีความคิดเห็นยังไงกับเรื่องต่างๆ ทางการเมือง ประชาธิปไตย เรื่องเซ็นเซอร์ เรื่องสังคม อะไรพวกนี้

เป็นเอก: คือการที่เราจะต้องเซลฟ์เซ็นเซอร์ เราถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหนังนะ ยี่สิบปีจากนี้ คุณลองดูหนังเรื่องนี้ใหม่ ประกอบกับบทสัมภาษณ์อันนี้แล้วจะเห็นว่า ไอ้เหี้ย ยุคนั้นต้องเซลฟ์เซ็นเซอร์เรื่องนี้จริงเหรอ แม่งไม่เห็นมีห่าอะไรเลย ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่อง xxx (ถมดำโดย iLaw) ละครับ เรื่องอื่นจะไปเซ็นเซอร์ทำไม มันก็มีอยู่เรื่องเดียว เราไม่ได้พูดว่าเราต้องด่าด้วยนะ พูดถึงก็ติดคุก เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองสิครับ แต่ขณะเดียวกัน ในหลายๆ กรณี คนที่เราไปคุยด้วยเขาก็เซ็นเซอร์ตัวเองด้วย ก่อนจะถึงเราเขาก็เลือกที่จะไม่พูดบางเรื่องไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม

เราไม่อยากให้คิดว่ามนุษย์ทุกคนต้องติดระเบิดตลอดเวลา แล้วพุ่งระเบิดตลอดเวลา ผมไม่ใช่แอคทิวิสต์ ผมเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้ในโลกนี้ แล้วถ้ามันมีเรื่องอะไรที่มันมาสะกิดความสนใจผม สิ่งที่ผมทำก็แค่ตอบสนองกับสิ่งที่มาสะกิด แค่นั้นเอง บังเอิญผมมีกล้องติดตัว แต่ผมไม่ได้เป็นนักปลดแอกประชาธิปไตย

การกลัวติดคุกแล้วไม่ใส่สิ่งนั้นลงไปในหนังเนี่ย เรียกว่าเซลฟ์เซ็นเซอร์ แต่มีบางเรื่องที่เราตัดสินใจไม่ใส่ บางกรณีไม่ใช่กลัวติดคุก แต่บางเรื่องถ้าเรารู้สึกว่าเราใส่เข้าไปแล้วทำให้คนที่มาดู “สะใจ” เราไม่ใส่นะ คือหนังเรื่องนี้ไม่เป็นกลางแน่นอน เราไม่ใช่คนเป็นกลาง เรามีอุดมการณ์ทางการเมือง เราเลือกแล้วเราไม่เป็นกลาง แต่หนังเรื่องนี้มันต้องมีสติ นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมเสียไป เราเลือกข้างแต่เราจะไม่ยอมเสียสติเด็ดขาด เรารู้เลยว่า บางประโยคบางตอนถ้าใส่เข้าไปในหนังเรื่องนี้คนจะเฮทั้งโรง มันจะได้รับเสียงโห่ฮิ้ว ตบมือ แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อต้องการความสะใจ

พูดกลับไปถึงรายการของภิญโญ รายการตอบโจทย์ไม่ได้สัมภาษณ์แต่อาจารย์สมศักดิ์ (รศ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) นะ มันสัมภาษณ์คนเต็มไปหมดเลยนะ แต่ก็พูดกันแต่ประเด็นสมศักดิ์ ซึ่งไอ้สังคมเฟซบุคก็จะมีสองพวกชัดเจนเลย พวกแรกจะบอกว่าไม่มีเรื่องอื่นทำหรือไง กะอีกพวกคือ ก็พูดความจริงอะ มึงฟังความจริงไม่ได้หรือยังไง ในขณะที่เราดูแล้วเสียดาย เพราะสิ่งที่อ.สมศักดิ์พูดแม่งโคตรจะมีประโยชน์เลย แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอ.สมศักดิ์มีท่าทีดูดตีน โทษนะครับ ด้วยความเคารพ แล้วมันน่าเสียดาย เพราะด้วยท่าที มันทำให้ไอ้พวกเพื่อนผมที่เป็นชนชั้นกลางสีเหลืองที่ถวิลหาความสงบ มันทำให้พวกนี้ไม่ได้ฟังสิ่งที่อ.สมศักดิ์พูดเลย อยากจะกระโดดถีบหน้าเขาอย่างเดียว มันเป็นโมเดลที่ผมบอกเอกเลยว่า แบบนี้ผมจะไม่ทำ มันน่าเสียดายมาก โทษทีที่ผมต้องพูดแบบนี้เกี่ยวกับอ.สมศักดิ์ ผมเคารพอาจารย์สมศักดิ์ แต่มันปฏิเสธไม่ได้

แต่หนังเรื่องนี้ก็ยังมีส่วนที่ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์สั่งเซ็นเซอร์ ก่อนส่งตรวจคาดไว้ไหมว่าจะถูกเซ็นเซอร์ หรือคิดว่าจะผ่านฉลุย

เป็นเอก: คิดว่าผ่านฉลุยนะ ผมบังอาจคิดจะขอเรทส่งเสริมด้วย

ภาสกร: มี 5 จุดที่โดนดูดเสียง แต่คัตติ้งไม่โดนตัด ยังอยู่ครบ

เป็นเอก: คนไปดูก็จะรู้ว่าตรงไหนโดนเซ็นเซอร์บ้าง ช่วงนั้นของหนังมันจะเงียบไปเลย ซึ่งเราว่ามันดี มันเป็นการบันทึกระบบเซ็นเซอร์ใน พ.ศ. นี้ไปด้วย

"นอกจากที่มันจะเป็นสารคดีประชาธิปไตยแล้ว
ส่วนหนึ่งมันก็ทำหน้าที่บันทึกสภาพสังคมตอนนี้ด้วยนะว่า
เรามีความคิดเห็นยังไงกับเรื่องต่างๆ
ทางการเมือง ประชาธิปไตย เรื่องเซ็นเซอร์ เรื่องสังคม"

– ภาสกร ประมูลวงศ์

เขาระบุเหตุผลชัดเจนไหม ที่ให้เซ็นเซอร์

เป็นเอก: ระบุชัดเจนว่าหมิ่นฯ เขาบอกแม้คุณไม่ได้เป็นคนพูดเองแต่ไปถ่ายคนพูดมา มันก็คือการเอามาพูดต่อ เช่นเหมือนที่สนธิ ลิ้มทองกุลโดนที่เอาคำพูด ดา ตอร์ปิโดมาพูดต่อ ก็โดนฟ้องเพราะเอาคำพูดนั้นมาเผยแพร่ เขาบอก "ออกไปคุณก็โดนฟ้อง ยังไงคนก็ต้องมาฟ้องคุณอยู่ดี อันนี้เราช่วยสกัดให้ก่อน"

ภาสกร: หนึ่งในเซ็นเซอร์ชุดนั้นเป็นอัยการ เขาบอกเขามีคดีเยอะพอแล้ว หมื่นกว่าคดี คุณไม่ต้องไปเพิ่มคดีให้หรอก

ที่ตอนแรกไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะเราไม่ได้คิดว่าฉากนี้มันจะผิดใช่ไหม

เป็นเอก: ถูกต้อง

ภาสกร: อันนี้มันหลังจากที่เราเซ็นเซอร์ตัวเองแล้วระดับหนึ่ง

เป็นเอก: ซีนเปิดซีนแรก ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์ด้วยฮะ มันทำให้แรงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า จากการที่ถูกเซ็นเซอร์มันไปพบทางออกอีกทางหนึ่ง ซึ่งถ้าเราไม่โดนเซ็นเซอร์เราไม่มีทางคิดอันนี้ได้เลย แล้ว ต้องดูในโรงอย่างเดียวเลย ซีนแรก ไม่มีอะไรเลย กระดาษแผ่นเดียว เอากล้องจับกระดาษเก่าๆ หนึ่งแผ่น เราจะไม่เชื่อเลยว่ามันมีดราม่าได้

คาดหวังกำไรจากหนังเรื่องนี้ไหม

เป็นเอก: คาดหวังกำไรครับ แต่กำไรที่เราคาดหวังอาจไม่ใช่เรื่องเงิน เราหวังว่ามันจะไปกระทบคนที่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากให้มาสนใจ นั่นเป็นกำไรสำหรับเรา เพราะจริงๆ กำไรส่วนตัว เราได้แล้วนะ การได้ไปคุยกับคนพวกนี้ก็ไม่รู้ว่าจะกำไรยังไงแล้ว

คนที่มีความคิดความเชื่อทางอุดมการณ์อย่างเต็มที่แล้ว เขาไม่ต้องมานั่งดูหนังเราหรอก หนังมันไม่มีวันที่จะสั่งสอนคุณหรอก แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังเป็นคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มใหญ่ยังเป็นคนที่ยัง afford ที่จะไม่สนใจได้

เราคิดว่า การที่จะยืนอยู่บนเส้นที่ว่า หนังต้องไม่ฮาร์ดคอร์ลึกดิ่งจนเกินไป มันก็สำคัญในการทำหนังเหมือนกัน การทำหนังที่มันป็อบประมาณหนึ่ง…ใช้คำแบบนี้แล้วกัน…คือทำหนังที่มันไม่ฮาร์ดคอร์ คนที่ไม่รู้เรื่องยังพอแตะไปกับเราได้ นี่ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้ามันทำให้สิ่งนี้เป็นความป็อบได้นี่มันไม่เลวนะ

 

หมายเหตุ:
– การสัมภาษณ์ครั้งนี้ สัมภาษณ์พร้อมกับกองบรรณาธิการ ปาจารยสาร
– ภาพยนตร์สารคดี ประชาธิป'ไทย ฉายวันที่ 24 มิถุนายน ถึง 3 กรกฎาคม 2556 ที่ Paragon Cineplex และ Esplanade รัชดาภิเษก รอบเวลา 14.00 น.และ 20.00 น.