แรงงานโวยสภาปาหี่ หลอกให้ “มีส่วนร่วม” ล่าหมื่นชื่อ3ปี สภาปัดตกใน1คืน

หลังจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำรายชื่อประชาชน 14,264 รายชื่อเพื่อยื่นร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน เสนอต่อรัฐสภา เรื่องนี้ก็ถูกแช่เรื่องอยู่ปีกว่า กระทั่งกระทรวงแรงงานเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกัน ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติวาระที่ 1 ไม่รับหลักการร่างฉบับประชาชนไว้พิจารณา

ผลคือ ร่างกฎหมายที่ประชาชนทำงานกันอย่างหนักเพื่อเสนอเข้าสู่สภา เป็นอันยุติเส้นทางเพียงเท่านี้ ส่วนร่างที่รัฐบาลเสนอเองผ่านฉลุย ลอยละล่องเข้าสู่การพิจารณาวาระต่อไป
ร่างฉบับประชาชน vs ร่างฉบับรัฐบาล
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ผู้ใช้แรงงานเข้าชื่อกันเสนอนั้น มุ่งขยายความคุ้มครองตามระบบประกันสังคมไปยัง ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ ลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และแรงงานข้ามชาติด้วย ขยายเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่เป็นลูกจ้าง (กฎหมายเดิมต้องทำงานก่อนสามเดือน) ไปจนถึงหลังออกจากงานแปดเดือนหรือสิบสองเดือน (กฎหมายเดิมคุ้มครองหลังออกจากงานหกเดือน)
ข้อเด่นอีกประการของร่างฉบับประชาชน คือ จัดตั้งสำนักงานประกันสังคมให้เป็นหน่วยงานอิสระ แยกออกจากหน่วยราชการ ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนของตัวเองเข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคมได้โดยตรง และจัดตั้งระบบตรวจสอบการทำงาน การใช้จ่ายเงิน ของกองทุนประกันสังคมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ
ขณะที่ร่างฉบับที่เสนอโดยรัฐบาล ซึ่งเดินหน้าเข้าสู่วาระต่อไปแล้วนั้น แม้จะมีการขยายความคุ้มครองในบางประเด็น แต่ก็ยังมีข้อวิจารณ์อยู่มาก เช่น ยังไม่ครอบคลุมลูกจ้างองค์กรอิสระ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ แรงงานข้ามชาติ สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนยังน้อยกว่าระบบบัตรทองทั้งที่ต้องจ่ายเงินสมทบ กองทุนชราภาพไม่มีความยั่งยืนเพราะเก็บเงินสมทบน้อยเกินไป  
[ ดูรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาล ได้ตามไฟล์แนบ ]
ส่วนเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารสำนักงานประกันสังคมยังไม่มีปรากฏให้เห็นในร่างฉบับของรัฐบาล
วีระพงษ์ ประภา นักวิจัยTDRI
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ หนุนข้อเสนอในร่างฉบับประชาชน
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนาสาธารณะนำเสนอข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ร่างทั้งฉบับประชาชน ฉบับส.ส. และฉบับรัฐบาล แล้วพบว่าทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอที่สอดคล้องกับหลักการในร่างของภาคประชาชน โดยเฉพาะข้อเสนอให้ผู้ประกันตนทั่วประเทศมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคม เสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระ และให้มีคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสของสำนักงานประกันสังคม
“การที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการของร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ (ฉบับประชาชนและฉบับที่เสนอโดย ส.ส.นคร มาฉิม) ซึ่งถือเป็นการเสียโอกาสในการปรับปรุงระบบและการตรวจสอบของสำนักงานประกันสังคมในอนาคต” บทวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอ สรุปไว้ในตอนท้าย
ม็อบผู้ใช้แรงงาน เผาโลงหน้าสภาประณามส.ส.
3 เม.ย.56 เวลาประมาณ 10.30 น. กลุ่มคนงานประมาณ 500 คน นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกันแต่งชุดดำไว้อาลัย เดินขบวนจากหน้าสวนอัมพรมายังหน้ารัฐสภา ภายใต้กิจกรรมชื่อ "ประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อํานาจทางอ้อมทําลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง” 
เวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มคนงานร่วมกันยืนไว้อาลัยให้กับ ส.ส. 250 คน ที่ลงมติไม่รับร่างฯ พร้อมวางดอกไม้จันทน์ และเผาโลงศพจำลองติดรูปภาพนายเจริญ จรรย์โกมล  รองประธานสภาฯ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมกับข้อความกำกับว่า ‘โฉมหน้าผู้อภิปรายคว่ำกฎหมายประชาชน’ เพื่อประณามการไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน 
ในขบวนผู้ใช้แรงงาน ผู้ชุมนุมถือป้าย เขียนข้อความประณามสภาผู้แทนราษฎร เช่น "การเสนอกฎหมายคือการมีส่วนร่วมของประชาชน" "ปาหี่้ประชาธิปไตยไม่รับกฎหมายประชาชน" "ส.ส.ไม่รับร่างเกิดช่องว่างกับประชาชน" "เร่งทำ3ปี รัฐมนตรีทำลาย1คืน" ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงปัญหาของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากสภาผู้แทนราษฎร
มาตรการต่อไป ทำทุกอย่าง ที่ทำได้
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวปราศรัยหลังทำกิจกรรมเผาโลงศพจำลองว่า สำหรับมาตรการต่อไป จะล่ารายชื่อเพื่อขับไล่ ส.ส.ที่ลงมติไม่รับร่างฯ ของประชาชน รวมทั้งไปทำความเข้าใจกับผู้ร่วมลงชื่อ 14,264 รายชื่อ ตามพื้นที่ต่างๆ ให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาลที่กำลังพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ ในประเด็นที่ไม่ส่งเสริมให้การบริหารงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เป็นประโยชน์กับผู้ประกันตน
ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ตัวแทนประชาชนผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม กล่าวในงานเสวนาของทีดีอาร์ไอว่า จากนี้จะเดินหน้าทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เช่น ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เป็นต้น
แม้แกนนำของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายจะยืนยันไม่ยอมแพ้ที่จะผลักดันหลักการตามร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่ตกไปแล้วเข้าสู่สังคม แต่มองในอีกแง่หนึ่งก็คือหนทางของพวกเขาเหลือเพียงแต่การดับเครื่องชนกับอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้า เพราะช่องทางตามกฎหมายที่พวกเขามีสิทธิสามารถกระทำได้ ได้ทำไปหมดแล้วแต่ไม่เป็นผล
แม้รัฐธรรมนูญจะให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางตรงได้โดยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และแม้ข้อเสนอของประชาชนจะมีความชอบธรรม แต่เมื่อใช้สิทธิทางตรงโดยชอบธรรมแล้ว อำนาจทางอ้อมของประชาชนคือสภาผู้แทนราษฎรก็มองไม่เห็นความสำคัญ ดังนั้นทางเลือกของประชาชนก็จึงต้องกลับไปผลักดันทุกวิถีทางเหมือนยุคสมัยที่อำนาจทางตรงไม่ได้มีอยู่เลย
            
 
 
ไฟล์แนบ