จวกร่างพ.ร.บ.สลากฯ หวั่นตอกย้ำการติดพนัน-โครงสร้างไม่โปร่งใส

เมื่อ19 มี.ค. 2556 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวจัดเวทีเสวนา “จับตาพ.ร.บ.กองสลากฯฉบับใหม่ ปล่อยเสือเข้าบ้านหวยบานเต็มเมือง” เพื่อระดมความเห็นต่อการที่รัฐบาลกำลังเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (พ.ร.บ.สลากฯ) โดยฝ่ายประชาชนกังวลว่า โครงสร้างการบริหารกองสลากที่มีปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำยังอาจเป็นการมอมเมาประชาชนให้ติดการพนัน เปิดช่องให้เยาวชนเข้าถึงการพนันได้ง่ายขึ้น

มณเฑียร บุญตัน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.สลากฯ ฉบับใหม่ จะทำให้เกิดการพนันรูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น หวยตู้ หวยขูด หวยกีฬา ขณะที่โครงสร้างการบริหารจัดการของกองสลากนั้นก็มีปัญหา เพราะมีกรรมการเพียงหนึ่งชุด ส่วนใหญ่กรรมการเป็นข้าราชการอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายการเมืองทำให้เกิดการผูกขาดโดยผู้ถืออำนาจรัฐ  ผู้เข้ารับสัมปทาน และผู้ค้ารายใหญ่  
มณเฑียรเสนอให้แยกการบริหารงานของกองสลากให้ชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารจัดการ และฝ่ายจัดสรรเงินรายได้ ซึ่งหลักของการจัดสรรรายได้จาการขายสลากรัฐบาลไม่ควรคาดหวังหรือใช้สลากหารายได้เข้ารัฐ แต่ต้องนำรายได้กลับเข้าสู่เยียวยาสังคม ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้พิการ 
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เห็นว่า  กฎหมายกองสลากปัจจบันการตั้งคณะกรรมการชุดเดียวมาบริหาร เป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจ ที่ผ่านมากองสลากไม่เคยพูดถึงผลกระทบทางสังคมเลย แต่กลับพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ 
วัลลภ กล่าวด้วยว่า ถ้าประชาชนจะร่างกฎหมายใหม่มาแข่งกับรัฐคงลำบาก เพราะเมื่อประชาชนเสนอกฎหมายไป การพิจารณอย่างไรก็ต้องใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ควรเริ่มจากคัดค้านร่างพ.ร.บ.สลากฯ โดยขอให้มีการทำประชาพิจารณ์
“ถึงอย่างไร เราก็ต้องคัดค้าน ต้องเดินหน้าไปสู่การเรียกร้องการทำประชาพิจารณ์เพราะเรื่องนี้เพราะมันมีผลกระทบ ทั้งนี้เราไม่มีความจำเป็นทีจะต้องคุยกับกรรมการกองสลากเพราะมันไม่มีความหมายสิ่งที่ต้องทำให้คือพยายามให้ครม.ถอนร่างยับยั้งกฎหมายนี้ออกมาและภาคประชาชนจะต้องเดินหน้าเต็มกำลังกับเรื่องนี้” วัลลภกล่าว
วัลลภ เสนอว่า หากจะแก้กฎหมายกองสลากมีประเด็นควรแก้ ดังนี้ 1. องค์ประกอบของคณะกรรมการที่ครม.แต่งตั้งมาควรมาจากหลายๆหน่วยงาน และมีวาระไม่เกินสองปี 2.เงินที่มาจากกองสลาก เงินลงทุน เงินบริหาร คือเงินที่ให้กับรัฐ แต่กำไรจากการขายสลากควรกระจายให้กับส่วนต่างๆ ดอกเบี้ยควรจัดให้กับกองทุนเพื่อเด็กหรือเพื่อคนชรา 3.ก่อนออกกฎใดๆต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ก่อน
ดร.วิเชียร  ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า กฎหมาย คือนโยบายสาธารณะ  การออกพ.ร.บ.สลากฯฉบับใหม่ จะใช้วิธีแก้ไขบางส่วนของกฎหมายปี 2517 ไม่ได้ เพราะโครงสร้างแบบเดิมนั้นการกำหนดนโยบายมาจากคนเพียงไม่กี่คนที่มาจากรัฐบาล ซึ่งกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงาน จึงควรจะแก้ไขที่โครงสร้างก่อน โดยแยกผู้ออกสลากฯกับ ผู้ดูแลเงินที่ได้จากการขายสลากฯออกจากกัน
“เสือตัวนี้ถูกปล่อยออกมา หลังจากอยู่ในกรง  พ.ร.บ.สลากฯ 2517 เพื่อออกมาสู้กับหวยใต้ดินที่มันเพ่นพ่านไปหมด แทนที่รัฐจะหันมาปราบข้างนอกให้น้อยลงเรื่อยๆ แต่กลับปล่อยเสืออีกตัวคือ พ.ร.บ.สลากฯใหม่  ที่สำคัญมันเป็นเสือหิวอันตรายเสียด้วย ออกมาเลยกินหมดทุกอย่าง เรากำลังตกเป็นเหยื่อของเสือที่มีกฎหมายรองรับ กัดกินได้ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ช่วยดูแลเสือตัวนี้ ฉีดวัคซีน อย่าปล่อยให้กินเด็กต่ำกว่า 18 ปี และต้องมีหลักประกันที่ชัดเจนปลอดภัยด้วย” ดร.วิเชียร กล่าว
ดร.วิเชียร กล่าวด้วยว่า รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลคำนึงเฉพาะผลประโยชน์ว่าเงินจะเข้ารัฐเท่าไหร่ มีผลิตภัณฑ์ตอบสนองต่อลูกค้าเท่าไหร่ โดยไม่มองถึงปัญหา หรือมาตรการป้องกันเยียวยา ข้ออ้างที่ว่าจะมีป้ายห้ามเด็กซื้อไม่สามารถบังคับใช้ได้แน่นอน  หรือแม้จะห้ามตั้งหวยตู้ใกล้วัด โรงเรียน ก็ไม่สามารถช่วยได้ เพราะจะมีคนเดินโพย อีกทั้งสถานที่ขายหวยตู้ก็จะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ขายหวยใต้ดินไปพร้อมๆกันด้วย