ชุมนุมท้วงเอฟทีเอไทย-อียู เปิดข้อมูลทุกครั้ง ก่อน -หลัง เจรจา

รัฐธรรมนูญไทยดูเหมือนทันสมัยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ กลไกกฎหมายที่เอื้อให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง การเคลื่อนไหวบนท้องถนนยังจำเป็น กรณีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปคือตัวอย่างล่าสุด

รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กำหนดว่า ก่อนที่รัฐบาลไทยจะทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ต้องนำเรื่องนั้นๆ ให้รัฐสภาพิจารณาก่อน เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ และมีส่วนร่วมตรวจสอบ

แต่กรณีการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปล่าสุด กรอบการเจรจาที่ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภากลับเป็นเพียงกรอบที่หละหลวมและนำเสนอในเวลากระชั้น จนประชาชนยากที่จะร่วมตรวจสอบและมีส่วนแสดงความเห็น

เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นต้นของการเจรจาเอฟทีเอไทยอียู (ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป) โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเริ่มเจรจาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 โดยไม่มีการเผยแพร่ร่างกรอบเจรจาให้สาธารณะรับรู้ ทำให้มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน ขอให้เปิดเผยข้อมูลกรอบการเจรจา นำมาสู่การจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 และนำร่างกรอบเจรจาเข้าสภาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า เป็นการนำเรื่องเข้าสภาโดยไม่มีเวลาให้รัฐสภาศึกษาล่วงหน้ามากนัก

อย่างไรก็ดี รัฐสภาได้เห็นชอบร่างกรอบเจรจาการค้าเสรีภาไทยกับสหภาพยุโรปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเจรจาในรายละเอียด ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 3 มีนาคม 2556 เพื่อเริ่มต้นการเจรจา

สุนทราพร เกษแก้ว เจ้าหน้าที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์ ประเทศไทยกล่าวว่า จากรายละเอียดของร่างกรอบการเจรจานั้น พบว่ามีแนวโน้มจะส่งเสริมสินค้าเกษตรส่งออกจำพวกอาหารแช่แข็ง การส่งออกเนื้อไก่ เนื้อกุ้ง และมีแผนจะลดภาษีสุรายาสูบ ขณะเดียวกัน ก็มีข้อตกลงทริปส์พลัส อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาร่วมอยู่ด้วย เรื่องนี้นำมาสู่ข้อห่วงใยของภาคประชาชนว่า หากรัฐบาลยอมลงนามเอาเรื่องทริปส์พลัสไปแลกกับการเปิดเสรีส่งออกกุ้งไก่และสุรายาสูบ นั่นหมายความว่ารัฐไทยต้องเข้มงวดในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งย่อมกระทบโดยตรงต่อความเป็นความตายและวิถีชีวิต เช่น สร้างอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา กระทบต่อการใช้เมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกของเกษตรกร

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ตัวแทนกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ความห่วงใยของภาคประชาชนที่มีต่อการเจรจา มีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องเนื้อหา (อ่านเพิ่มเติม)  และเรื่องกระบวนการ

ทั้งนี้ อุปสรรคประการสำคัญคือ “กระบวนการ” ของการเจรจาที่ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล และการเจรจาค่อนข้างคุ้นเคยกับธรรมเนียมการปิดลับข้อมูลของทางราชการ ฉากแรกของการเจรจาเอฟทีเอไทยสหภาพยุโรป เป็นเพียงสิ่งสะท้อนว่า กฎหมายปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะลำพังกลไกที่กำหนดไว้หลวมๆ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลอาจใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการเสนอเอกสารที่ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาอะไรมากนักเข้าสู่การพิจารณา

ด้วยเหตุนี้ การเมืองบนท้องถนน จึงยังเป็นพื้นที่ต่อรองสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ภาคประชาชนราว 300 คน จาก 28 เครือข่าย นัดรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อห่วงใย ที่มีต่อการเจรจา

ภาคประชาชนรวมตัวกันตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า รอจนกระทั่ง เวลา 14.00 น. ดร.โอฬาร ไชยประวัตร หัวหน้าคณะเจรจา อนุญาตให้ตัวแทนประชาชนเข้าพบ

นายจักรชัย โฉมทองดี ตัวแทนจากกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ภาคประชาชนเข้าใจดีว่า การเจรจาข้อตกลงทางการค้านั้นย่อมมีทั้งเรื่องที่ได้และเสีย แต่มีประเด็นน่ากังวลหลายเรื่องที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญซึ่งดูเหมือนเรื่องเหล่านั้นไม่ถูกได้ยินในการเจรจา ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด กลไกการเจรจาที่โปร่งใสและเปิดเผย โดยหารือกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมสัดส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ดร.โอฬาร ไชยประวัตร หัวหน้าคณะเจรจาออกมารับหนังสือจากภาคประชาชน

ดร.โอฬาร ไชยประวัตร หัวหน้าคณะเจรจา และตัวแทนรัฐบาล กล่าวว่า จะพยายามรับข้อเสนอและข้อห่วงใยของภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในการพิจารณา และจะดูแลผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยหลังการพูดคุยกันราว 40 นาที ได้ข้อสรุปร่วมกันในส่วนของกระบวนการว่า

หนึ่ง ทุกครั้งที่เสร็จสิ้นการเจรจาในแต่ละรอบ จะมีการกลับมารายงานเนื้อหาการเจรจา (de-brief) และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อเตรียมการเจรจาทุกรอบ

สอง จะตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเพื่อดูภาพรวมของการเจรจา

สาม ในแต่ละประเด็นที่ภาคประชาชนห่วงใย ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนเข้าไปเป็นคณะทำงานกับทีมเจรจา เพื่อจัดทำจุดยืนในแต่ละประเด็น นั่นคือ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาและทรัพยากรชีวภาพ สินค้าแอลกอฮอล์และยาสูบ และ การคุ้มครองการลงทุนที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐ ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ซึ่งทั้ง 3 หัวข้อจะต้องได้ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้

ทั้งนี้ ข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการเห็นกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ความจริงแล้วเป็นข้อเสนอที่เคยเขียนเอาไว้ในร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวมีใจความว่า ให้การทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศมีลักษณะเปิดกว้าง และมีคณะกรรมการประสานการเจรจาฯ มีกระบวนการรับฟังความเห็นทั้งก่อนและหลังการเจรจา ฯลฯ ซึ่งประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคนเคยเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่รัฐสภาแล้ว แต่ร่างดังกล่าวถูกประธานรัฐสภาปัดทิ้งด้วยเหตุว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในหมวด 3 เรื่องสิทธิหน้าที่ของประชาชน หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิเสนอ

ดังนั้น เมื่อการช่องทางการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่ทำให้อะไรเดินหน้าได้ การเมืองบนท้องถนนจึงยังเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับภาคประชาชน