ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ทั้งพืช สัตว์ และแร่ต่างๆ ทรัพยากรเหล่านี้ถูกค้นพบผ่านการดำเนินชีวิตในวิถีดั้งเดิมว่ามีคุณสมบัติทางยาสามารถรักษาโรคบางชนิดได้หากผสมสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญ เรารู้จักในนามของ “ยาสมุนไพร” การบริโภคสมุนไพรเพื่อรักษาโรคเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ การผลิตยาสมุนไพรเพื่อจำหน่ายจึงแพร่หลายมากขึ้น ขณะที่ยังไม่มีการออกกฎหมายมารองรับสนับสนุนการผลิตยาสมุนไพรโดยตรง
จึงมีการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติสมุนไพรแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกในการบริหารจัดการการผลิตยาสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในวันที่ 7 กันยายน ปี 2554 นายอร่าม อามระดิษ นายกสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย พร้อมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นำรายชื่อประชาชนจำนวน 15,000 รายชื่อ ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ. สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. … ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อให้นำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา
โดยร่างพระราชบัญญัติสมุนไพรแห่งชาติมีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดให้มีบุคลากร และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร
หมวด 1 มาตรา 6 กำหนดให้มีคณะกรรมการสมุนไพรแห่งชาติ เรียกโดยย่อ ว่า กสพช. ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย การบริหารงานทั่วไป การออกข้อบังคับ การกำหนดชนิดของสมุนไพร การดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การออกระเบียบเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินกองทุน รวมทั้งการใช้อำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสำหรับปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ
หมวด 2 มาตรา 15 กำหนดให้มีการจัดตั้งสถาบันสมุนไพรแห่งชาติขึ้น เรียกโดยย่อว่า สสพช. เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของรัฐมนตรี มาตรา 16 ได้ระบุเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ สสพช.โดยละเอียด และหมวด 8 มาตรา 45 รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติ รายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ระบุไว้ในมาตรา 56
2. เกี่ยวกับใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนและระเบียบเกี่ยวกับการใช้ใบอนุญาต
ในหมวด 3 มาตรา 29 ระบุว่า การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับสมุนไพร ยาแผนไทย ตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสพช. ประกาศกำหนด
หมวด 4 มาตรา 32 ระบุว่า การขึ้นทะเบียนสมุนไพรตามมาตรา 29 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสพช. ประกาศกำหนด โดยมาตรา 33 รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานสำหรับดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียน
หมวด 6 กล่าวถึงการพักใช้ใบอนุญาติลารเพิกถอนใบอนุญาต โดยมาตรา 36 ระบุว่า กสพช.มีอำนาจสั่งพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาติโดยมีกำหนดครั้งละไม่เกิน 120 วัน เมื่อผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ประกาศ หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ กรณีที่มีการฟ้องผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ กสพช.จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้รอคำพิพากษาอันถึงที่สุดก็ได้ ผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตต้องหยุดดำเนินกิจการ และระหว่างนั้นจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้อีกไม่ได้ มาตรา 38 กสพช. มีอำนาจสั่งถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตก่อนกำหนดเวลาได้ เมื่อเป็นที่พอใจว่าผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติ ประกาศ หรือกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว และมาตรา 39 ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือให้แก้ไขคำสั่งของผู้อนุญาตในทางที่เป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์ได้
3. การโฆษณา
หมวด 5 มาตรา 34 ระบุว่า ห้ามผู้ใดโฆษณาสรรพคุณเกี่ยวกับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับสมุนไพรในลักษณะที่โอ้อวดเป็นเท็จ และมาตรา 35 ระบุว่า การกำหนดรายการที่จะต้องแสดงฉลากหรือเอกสารกำกับสมุนไพร และการกำหนดฉลากหรือเอกสารกำกับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสพช. ประกาศกำหนด
4. กองทุนสมุนไพรแห่งชาติ
หมวด 7 มาตรา 42กำหนดว่า กองทุนประกอบด้วย เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เงินที่ได้จากหน่วยงานของรัฐหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์หรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านสมุนไพร เงินสมทบอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินข้างต้น โดยกองทุนดังกล่าวมีไว้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสมุนไพร ตำรับยาแผนไทย และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
ล่าสุด เดือนมกราคม 2556 นายสุกษม อามระดิษ เลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย ชี้ว่า จากนโยบายส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชนผลิตยาสมุนไพรของกระทรวงสาธารณสุข และเนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะประกาศให้โรงงานผลิตยาทั้งแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี ทางสมาคมประเมินแล้วว่าหากจะสร้างโรงงานให้ได้มาตรฐานดังกล่าวต้องใช้งบประมาณสูง ซึ่งคนผลิตยาสมุนไพรส่วนใหญ่คือกลุ่มคนระดับกลางลงล่าง อาจต้องเลิกอาชีพเพราะไม่มีงบ ดังนั้นภาคประชาชนจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.สมุนไพรแห่งชาติ โดยระบุให้มีกองทุนสมุนไพรกลางเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับสมุนไพร โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ
ส่วนความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าพิจารณาในสภาเลย ทราบว่าอยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นจากกรม กองต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่แน่ใจว่ากฎหมายตัวนี้จะผ่านหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเห็นความสำคัญของเรื่องสมุนไพรหรือไม่ โดยทางเครือข่ายจะอาจจะออกมาผลักดัน พ.ร.บ. นี้ผ่านการชี้แจงเจรจากับผู้มีอำนาจ
ไฟล์แนบ
- พ.ร.บ.สมุนไพรแห่งชาติ (101 kB)