โซ่ตรวนนักโทษ: พันธนาการที่เหนี่ยวรั้งปัญหาชายแดนใต้

“โซ่ตรวน” เป็นเครื่องพันธนาการที่เรือนจำใส่ให้กับนักโทษ เพราะเห็นว่านักโทษนั้นเป็นบุคคลอันตราย หรือน่าจะหลบหนี ซึ่งโดยทั่วไป นักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิตก็จะถูกตีความว่าอาจจะหลบหนี จึงถูกใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลให้มี “คดีความมั่นคง” จำนวนมาก และมีการจับกุมผู้ต้องหาและจำเลยในความผิดฐานก่อการร้าย ซึ่งก็มีโทษสูงถึงประหารชีวิต การใส่โซ่ตรวนให้กับคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา จึงเป็นอีกความรุนแรงที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจไม่ค่อยถูกมองเห็นนัก 

ไอลอว์เดินทางไปปัตตานี เพื่อพูดคุยกับนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิและติดตามเรื่องราวของนักโทษในเรือนจำ ในขณะที่นักโทษคดีความมั่นคงส่งเสียงเรียกร้องออกมาจากเรือนจำเองไม่ได้ อาจเพราะอุปสรรคทางกฎระเบียบ ภาษา และความกลัว พวกเขาจึงจะทำหน้าที่นี้แทน
ยูฮานี เจ๊ะกา นักกฎหมายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมพบปะกันของเครือข่ายจำเลยและญาติจำเลยคดีความมั่นคง ในจังหวัดนราธิวาส และได้รับฟังประสบการณ์ตรงมาจากอดีตนักโทษคดีความมั่นคงคนหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งเคยต้องใส่ตรวนตลอด 24 ชั่วโมง จนเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง เขาจึงได้รับอิสรภาพกลับคืนมา แม้ยังคงแฝงด้วยความหวาดกลัว
ยูฮานี เจ๊ะกา นักกฎหมายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
จากประสบการณ์ที่ได้คุยกับครอบครัวของนักโทษ เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนที่ประกาศว่า ขอให้ญาติของนักโทษที่ถูกตรวนมาคุยกับเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ ญาติก็มากันเต็มเลยนะ 
จริงๆ เขาค่อนข้างไม่อยากให้ข้อมูลว่า เป็นใคร มาจากไหน ได้คุยกับคนหนึ่งซึ่งเคยถูกคดีความมั่นคงอยู่ในเรือนจำนราธิวาส แต่หลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ายกฟ้อง ก็เลยหลุดออกมา ตอนนี้เขาเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายจำเลย ตอนแรกเราคุยกับญาติอยู่เกี่ยวกับสภาพความลำบากในการใส่ตรวน ซึ่งญาติก็ไม่ค่อยรู้อะไรมาก เขาจึงมาเล่าให้เราฟัง
เรื่องเล่าจากคนที่ผ่านประสบการณ์จริง เล่าว่าอย่างไรบ้าง
เขาเล่าให้ฟังว่า ตรวนเป็นเหล็ก ทำให้การใช้ชีวิตไม่ปกติ ยากลำบากมาก เช่น การใส่กางเกง โซ่ตรวนจะเสียดสีกับร่างกายตลอดเวลาจึงต้องใส่ถุงเท้าที่มีลักษณะหนาเป็นพิเศษ ซึ่งทางเรือนจำจะไม่ให้มา ญาติต้องซื้อเข้าไปให้ บางทีก็ต้องซื้อกับเรือนจำเท่านั้น เป็นรายได้ของเรือนจำไปอีกทางหนึ่งด้วย
เวลานอน นักโทษต้องนอนทั้งตรวนเลย เขาก็จะกดทับตรวนเอาไว้ทั้งคืน ความน่ากลัวคือเวลาที่อากาศเย็น เช่น ในหน้าหนาวหรือเวลาที่ฝนตก ตรวนซึ่งเป็นเหล็กเมื่อถูกอากาศเย็นก็จะยิ่งเย็น และเมื่อถูกเนื้อจะทำให้ปวดเข้าไปถึงกระดูก เป็นความทรมานมาก
นักโทษจะต้องเช็ดถูตรวนทุกวันเพื่อไม่ให้ตรวนเป็นสนิม ถ้าไม่ได้ทำความสะอาดและปล่อยให้เป็นสนิม คนที่ใส่ตรวนก็จะแพ้สนิม เกิดเป็นแผล หรือเกิดอาการอะไรได้ และหากคนเป็นโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน อยู่แล้ว เวลาเกิดแผลจะหายยากมาก 
ตอนใส่ตรวน ถ้าเกิดเป็นโทษเบาๆ ก็จะใส่ห่วงตรวนด้วยวิธีการตอก แต่หากเป็นนักโทษที่มีโทษประหารชีวิตซึ่งต้องใส่ตรวนตลอด ทางเรือนจำจะใช้วิธีการเชื่อมเหล็ก ขณะเชื่อมจะเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาห่อไว้รอบตัวแล้วเชื่อม ซึ่งขณะที่เชื่อม คนที่ถูกใส่ตรวนจะถูกช็อตไปทั้งตัว เพราะใช้ไฟฟ้าในการเชื่อม และจะทรมานมาก บางคนถึงขนาดเป็นหมันจากการถูกช็อต 
คนที่เคยถูกใส่ตรวน เมื่อถอดตรวนแรกๆ จะเดินทรงตัวไม่ค่อยได้ จะเดินโซเซไปประมาณหนึ่งเดือน จนกว่าร่างกายปรับสภาพได้ จึงสามารถเดินเป็นปกติได้
ในเรือนจำมีคนที่ต้องใส่ตรวนเยอะแค่ไหน
ในเรือนจำนราธิวาสช่วงก่อนปี 54 ทุกคนที่ถูกคดีความมั่นคงจะต้องใส่ตรวนทั้งหมด แม้ว่าจะยังไม่มีคำพิพากษาเลยก็ตาม แต่ต่อมาหลังมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทำให้เรือนจำเปลี่ยนเป็นไม่ใส่ตรวนจนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเท่าที่ดู คือ ถ้าเป็นคำพิพากษาประหารชีวิต ก็จะตรวนทันที แล้วส่งตัวเข้าเรือนจำบางขวาง ต่อจากนั้นก็จะต้องตรวนตลอด 
สิ่งที่น่าตกใจคือ เราได้ข้อมูลมาว่า มีกรณีหนึ่งถูกควบคุมตัวตอนปี 50 และถูกตรวน จากนั้นมีนกต่อเข้ามาถามว่าจะจ่ายเงินไหมแลกกับการถอดตรวน ภรรยาเขาก็ไปหาเงินประมาณหนึ่งหมื่นสามพันบาทมาให้ และวันรุ่งขึ้นพอไปดูก็พบว่าถอดตรวนแล้ว
            
ส่วนตัวเห็นอย่างไรกับการใส่ตรวนนักโทษในเรือนจำ
การจับไปอยู่ในคุกก็จำกัดสิทธิเสรีภาพไปทั้งหมดแล้ว การตรวนก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์เยอะมากเลย สภาพจิตใจนี่ยังไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเหตุจำเป็นที่ใช้หลักการว่าพอเป็นโทษประหารชีวิต หรือเป็นโทษสูงโทษหนักแล้วต้องตรวน โดยหลักแล้วการตรวนควรจะไม่มีเลย ส่วนข้อยกเว้นจะมีได้หรือไม่ ต้องมานั่งคิดกัน 
ปัญหาเรื่องโซ่ตรวนในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลต่อสถานการณ์ความไม่สงบหรือไม่
จริงๆ ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักของมันอยู่ที่เรื่องความยุติธรรม เพราะรัฐกระทำการบางอย่างที่ละเมิดต่อประชากรที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อย ยิ่งคนที่เข้าไปอยู่ในคุกก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง พอถูกกระทำจากรัฐอีกก็จะรู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐไทย และอาจรู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในรัฐที่กระทำต่อเขาแบบนี้ก็ได้
 
กลุ่มด้วยใจ เป็นกลุ่มของเครือข่ายญาติผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่ช่วยเหลือกันเยียวยาปัญหาระหว่างครอบครัวของผู้ต้องหา โดยมีภารกิจทั้งระดมทุนการศึกษาให้แก่เด็กและผู้สูงอายุที่สูญเสียเสาหลักของครอบครัวทั้งจากกระบวนการยุติธรรมและจากความรุนแรงในพื้นที่ โดยกิจกรรมของกลุ่มนั้น ได้ใช้วิธีเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐและนักโทษที่อยู่ในเรือนจำด้วยกระบวนการสันติวิธี โดยไม่สนใจว่ากลุ่มเป้าหมายที่กำลังประสบปัญหาจะกระทำความผิดมาจริงหรือไม่
 
ไอลอว์มีโอกาสคุยกับ นางสาวอัญชนา หีมมีนะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ถึงสถานการณ์การใส่โซ่ตรวนให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้
 
ทำไมกลุ่มด้วยใจจึงสนใจประเด็นการใส่โซ่ตรวนนักโทษ
การเข้าไปทำกิจกรรมกับนักโทษทำให้เห็นว่า นักโทษแต่งกายกันยังไง เราเห็นการใส่โซ่ตรวน และเมื่อศึกษาว่าเป็นมายังไง ก็คิดว่าน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่าการใส่โซ่ตรวน นักโทษที่อยู่ในเรือนจำก็ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่แล้ว เมื่อใส่โซ่ตรวนเข้าไปอีก ก็รู้สึกว่ามีสภาพไม่แตกต่างจากความไม่ใช่คน ในเรือนจำก็มีทั้งผู้ที่ถูกพิจารณาคดีแล้ว กับผู้ที่ยังไม่ถูกพิจารณาคดี ซึ่งยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จึงควรได้รับการปกป้องด้วย 
 
คนที่ถูกตรวนจะมีสภาพอย่างไรบ้าง
มันทรมาน เพราะมันเป็นเหล็ก เมื่ออากาศร้อนมันก็ร้อน วันที่อากาศเย็นมันก็เย็น แล้วมันก็หนัก เสียดสีกับข้อเท้าข้อมือ ทำให้ได้รับความเจ็บปวดบ้าง
 
         
 
ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง เป็นกลุ่มคนที่น่าจะหลบหนี จึงต้องใส่โซ่ตรวนไว้ จริงหรือไม่
การใช้เครื่องพันธนาการก็ขอให้ใช้กับคนที่สมควรจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นโทษประหารชีวิต และมีความร้ายแรงของรูปคดีก็สมควรที่จะใช้ แต่ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับความคิดเห็นทางการเมือง อย่างเช่น คดีความมั่นคง หรืออาชญากรรมอื่นที่เกิดจากความคิดเห็นทางการเมือง ก็อยากให้มีรูปแบบ เพราะเรามองไปถึงเรื่องการลดการใช้ความรุนแรง การใช้ความรุนแรงมันเกิดจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรงก่อน ถ้าเราไม่อยากให้มีความรุนแรงต่อเนื่อง เราต้องลดการใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้นทาง
 
ปัญหาเรื่องโซ่ตรวนในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลต่อสถานการณ์ความไม่สงบหรือไม่
แน่นอน เพราะรากเหง้าของปัญหาคือเรื่องความเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะในกระบวนการยุติธรรม แต่ปัญหานี้เกิดมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ทุกคนมองความเป็นธรรมในเชิงประวัติศาสตร์มาเป็นระยะ จนกระทั่งปัจจุบันมีความเป็นธรรมหลายรูปแบบที่พวกเขาไม่ได้รับ และพวกเขาเรียกร้องด้วยกระบวนการสันติวิธีไม่ได้ เลยต้องใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ที่ความเป็นธรรมก่อน