“โทษสูง น่าจะหลบหนี” เหตุผลยอดฮิตของการใช้โซ่ตรวนนักโทษในเรือนจำ

เรือนจำไทยใช้โซ่ตรวนกับนักโทษ บางแห่งใช้กับนักโทษประหาร นักโทษจำคุกตลอดชีวิต และนักโทษคดีความมั่นคง เพราะคดีมีโทษสูง ผู้ต้องขังน่าจะหลบหนีได้ กลุ่มทนายสามจังหวัดภาคใต้สะท้อนปัญหาสิทธิผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง ถูกตรวนเท้าทันทีที่ก้าวเข้าห้องขัง

วันที่ 7 ตุลาคม 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จัดการประชุมหารือเรื่อง แนวทางการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังที่ถูกตรวนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี

มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 กำหนดว่า โดยหลักแล้วห้ามมิให้ใส่ตรวนผู้ต้องขัง โดยมีข้อยกเว้นอยู่สี่ประการ คือ เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อผู้อื่น เป็นบุคคลวิกลจริตอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนี หรือจำเป็นต้องควบคุมตัวออกนอกเรือนจำ
ขณะที่ในทางปฏิบัติ กรมราชทัณฑ์มีหนังสือเวียนให้เจ้าหน้าที่ใส่ตรวนแก่ผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารชีวิต เนื่องจากมีอัตราโทษสูง จึงถูกพิจารณาว่าเป็นนักโทษที่น่าจะพยายามหลบหนี และด้วยเหตุผลเดียวกันทำให้ผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงมักถูกใส่ตรวนทุกคนเมื่อเข้าไปในเรือนจำใหม่ๆ ด้วย จนเมื่อเจ้าหน้าที่ดูพฤติกรรมแล้วเห็นว่าไม่น่าจะหลบหนีก็จะถอดตรวนให้
สถิติจากศูนย์ทนายความมุสลิมชี้ว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในความดูแลของศูนย์ทนายความมุสลิมที่ถูกจำโซ่ตรวนทั้งหมด 26 คน จาก 17 คดี แต่ได้รับการปลดตรวนแล้ว 14 คน ยังไม่ได้รับการปลด 12 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังในจังหวัดสงขลา 2 คน จังหวัดนราธิวาส 8 คน และจังหวัดปัตตานี 2 คน สาเหตุในการตรวนสรุปได้ว่า เพราะเป็นผู้ต้องขังในคดีร้ายแรงมีอัตราโทษสูงเกรงว่าจะหลบหนี และศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต
อุดม คุ่ยนรา อดีตผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดปัตตานีและเรือนจำกลางสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศมีประมาณสองแสนสองหมื่นคน เป็นนักโทษคดียาเสพติดมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นเรื่องความผิดต่อชีวิตหรือความผิดต่อทรัพย์ ส่วนนักโทษคดีความมั่นคงนั้นถือว่ามีจำนวนไม่มาก ซึ่งนักโทษในคดีความมั่นคงมักไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้เครื่องพันธนาการ เป็นนักโทษกลุ่มที่ดูแลง่ายกว่า เพราะเป็นการต่อสู้ทางความคิด และไม่มีแนวทางการต่อสู้ด้วยการแหกหักเรือนจำ
อุดมชี้ว่า แม้จะมีเงื่อนไขให้ใช้เครื่องพันธนาการได้เฉพาะบางกรณี แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่สืบทราบมาว่าผู้ต้องขังอาจทำร้ายกันก็จะใส่ตรวน หรือหากเรือนจำไม่มั่นคงแข็งแรงจริงๆ อย่างเช่นเรือนจำที่นราธิวาส การใส่เครื่องพันธนาการเพื่อป้องกันการหลบหนีก็อาจจำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยากว่าจะทำร้ายกันหรือจะหลบหนีจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจได้ยาก
อุดม กล่าวว่า การใช้ดุลพินิจตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมองอยู่คนละมุมว่า ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนใช้สามัญสำนึกที่ดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังเชื่อว่า มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจผิดพลาด เพราะความผิดพลาดในการทำงานนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ แต่หากใช้วิธีการร้องเรียนหรือเล่นงานเจ้าหน้าที่อาจจะยากในการได้รับความร่วมมือ และผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน จึงควรจะใช้วิธีพูดคุยหารือร่วมกันจากตัวแทนของกรมราชทัณฑ์ก่อนน่าจะดีที่สุด
อุดมเล่าว่า เคยมีกรณีที่จังหวัดสงขลา นักโทษใช้ผ้าพันไว้รอบตรวนที่ติดอยู่กับข้อเท้าแล้วสามารถปีนกำแพงเรือนจำหลบหนีได้ เราจึงต้องทบทวนเรื่องเครื่องพันธนาการ ปัจจุบันกำลังมีการทบทวนเพื่อลดขนาดโซ่ตรวน และลดน้ำหนักลง โดยใช้วัสดุอื่น ซึ่งแข็งกว่าแต่เบากว่า เช่นเดียวกับกุญแจมือก็เตรียมเปลี่ยนเป็นสายรัดข้อมือ ซึ่งจะแน่น แต่บีบรัดน้อยกว่าจะไม่เจ็บ เป็นความพยายามพัฒนาเครื่องพันธนาการให้เป็นธรรมมากขึ้น ให้ผู้ต้องหาไม่ทรมานแต่สามารถป้องกันเหตุได้ดีกว่าเดิม
อุดมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การใส่ตรวนนักโทษประหารชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เรือนจำ เช่นสมัยที่ประจำอยู่ที่เรือนจำจังหวัดปัตตานีก็เคยสั่งไม่ให้ใส่ตรวนกับนักโทษประหารชีวิตในคดีความมั่นคง เพราะพบว่านักโทษในคดีความมั่นคงมักไม่คิดหลบหนี หากเรือนจำใดอ้างว่าต้องใส่โซ่ตรวนเพื่อป้องกันการหลบหนีก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบทางข้อเท็จจริงด้วยว่า เรือนจำนั้นมีลักษณะไม่แข็งแรงจนนักโทษน่าจะหลบหนีได้จริงหรือไม่
       
เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตนเคยทำหนังสือส่งให้ผู้บัญชาการเรือนจำนาทวี จ.สงขลา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ปลดตรวนในวันสำคัญทางศาสนา เช่น ในเดือนรอมฎอน เพราะการใส่ตรวนทำให้ไม่สะดวกสำหรับการประกอบกิจการทางศาสนา ต่อมาทางเรือนจำได้ชี้แจงว่า เป็นปัญหาภายในเรือนจำ เนื่องจากคุณภาพของงานก่อสร้างเรือนจำมีปัญหา ทำให้เหล็กดัดไม่แข็งแรง หากใช้เท้ากระทืบเหล็กดัดก็อาจจะหลุดได้ จึงขอเวลาในการพิจารณาเรื่องการปลดโซ่ตรวน และจะใช้เงินเร่งด่วนในการซ่อมแซมความมั่นคงของเรือนจำ
เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา กล่าวว่า มีผู้ต้องขังในเรือนจำที่ยะลาคนหนึ่ง แม้ไม่เคยมีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีและไม่เคยถูกใส่ตรวน แต่พอศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต เรือนจำจึงใส่ตรวน แม้เขาจะไม่ได้มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีเช่นเดิม ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ทางเรือนจำก็ยังไม่ถอดตรวนให้ กว่าจะได้รับการปลดตรวนก็ต้องรออีกสองเดือนนับจากวันพิพากษา ซึ่งเขาเพิ่งได้รับการปลดตรวนไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ปัจจุบัน เรือนจำจังหวัดยะลาและเรือนจำจังหวัดเบตงไม่มีนักโทษถูกตรวนแล้ว
เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดนราธิวาสกล่าวว่า เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างฝากขังในคดีความมั่นคงจะถูกใส่โซ่ตรวนอย่างน้อยประมาณหนึ่งเดือนก่อน แล้วค่อยปลดภายหลัง แต่ปัจจุบันสภาพเช่นนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งผู้ต้องขังที่ต้องใส่โซ่ตรวนตลอดเวลา เช่น ผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนนักโทษที่มีอัตราโทษรองลงมา เช่น จำคุกตลอดชีวิต ก็จะถูกใส่โซ่ตรวน เพื่อรอดูพฤติกรรมก่อน หากพฤติกรรมไม่มีปัญหาจึงได้รับการปลดภายหลัง แต่มีกรณีผู้ต้องขังหนึ่งราย ที่แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ยังถูกควบคุมตัวระหว่างรอฎีกา ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการปลดโซ่ตรวน
พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาเรื่องการใส่โซ่ตรวน อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐ การฟ้องต่อศาลยุติธรรมโดยตรงตามที่มาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ หรือการฟ้องเพิกถอนหนังสือเวียนที่วางหลักเกณฑ์ในการใส่โซ่ตรวน หรือการฟ้องเพิกถอนคำสั่งของเรือนจำหากเรือนจำใดมีการออกคำสั่งชัดเจน หรือการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามกฎหมายแพ่ง
ภาวิณี ชุมศรี เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ควรต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนว่า ผู้ต้องขังที่มีโทษสูงเป็นผู้ต้องขังที่คิดจะหลบหนีหรือไม่ เพราะผู้ต้องขังที่เคยพูดคุยด้วยก็ไม่มีท่าทีว่าจะหลบหนี หรือถ้าหากสามารถกำหนดเงื่อนไขของการใส่ตรวนที่ชัดเจนกว่าเหตุผลเรื่องการพยายามจะหลบหนีได้ อาจช่วยให้เจ้าหน้าที่สบายใจมากขึ้นที่จะใช้ดุลพินิจและช่วยให้ผู้ต้องขังสบายใจมากขึ้นเพราะทราบแน่ชัดว่าตนจะถูกตรวนเมื่อใด
อุดม เสนอข้อเสนอปิดท้ายว่า การนำผู้ต้องหาออกนอกเรือนจำอาจจำเป็นต้องใส่ตรวน แต่การใส่ตรวนในเรือนจำอาจแก้ปัญหาได้โดยการสร้างแดนพิเศษในเรือนจำทุกแห่งให้มีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด และแยกนักโทษคดีร้ายแรงให้ไปอยู่ในแดนพิเศษนี้โดยไม่ต้องใส่ตรวน แต่หากสภาพเรือนจำยังเป็นเช่นนี้เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความมั่นใจว่าจะป้องกันการหลบหนีได้
ที่ก้าวเข้าห้องขัง