พลเมืองเน็ตเสนอแก้นิยาม “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” อย่ารวมเรื่องหมิ่นประมาท

 

31 กรกฎาคม 2555 ในงานประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีและสิทธิพลเมืองประจำปี 2555 “อินเทอร์เน็ตกับการจัดทำนโยบายสาธารณะ” ณ สำนักงานองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความกังวลถึงความปลอดภัยส่วนบุคคลในอินเทอร์เน็ต ว่าเรื่องที่น่าแป็นห่วงและต้องจับตาดูเป็นอย่างมาก มีดังนี้
1. มีความพยายามขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการต่างประเทศมากขึ้น ทั้งการกดดันทางกฎหมายและดำเนินนโยบายทางการทูต  รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลแรกในโลกที่ตอบรับเมื่อทวิตเตอร์ประกาศว่าจะให้รัฐบาลส่งคำร้องให้เซ็นเซอร์ทวีตรายประเทศได้
2. ต้นปีมีการออกกฎกระทรวงยุติธรรม กำหนดให้คดีความตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นคดีพิเศษอยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ  ซึ่งเมื่อเป็นคดีพิเศษ ทำให้เจ้าหน้าทีรัฐมีอำนาจดักเก็บข้อมูล โดยที่ไม่ต้องขอหมายศาลอีกต่อไป ใช้เพียงแค่คำอนุมัติของอธิบดีเท่านั้น ดูรายละเอียดคลิกที่นี่ 
3.แหล่งข่าวจากสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า กรรมาธิการทหาร ทำจดหมายสอบถามไปยัง กสทช.เกี่ยวกับเทคโนโลยี VOIP (Voice Over IP) ว่ามีอุปกรณ์ใดดักฟังได้บ้าง หรือจะควบคุมไม่ให้นำเข้า VOIP หรือไม่ และถ้ามีอุปกรณ์เข้ารหัสขายจะมีช่องทางใด จะถอดรหัสได้อย่างไรบ้าง 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล  
รูปภาพจาก mycomputerlaw.in.th
อาทิตย์กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายพลเมืองเน็ตในการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเสนอว่า ต้องแก้คำนิยามของคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ให้เป็นข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์อ่านเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่คนอ่าน ได้แก่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไวรัส มัลแวร์ เนื่องจากปัจจุบัน ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นิยามคำว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ คือข้อมูลทั้งหมด ทั้งโปรแกรม ข้อความ ภาพ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ทำความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์
มาตรา 3 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้คำนิยามของ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
อาทิตย์ให้ความเห็นอีกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ควรเป็นกฎหมายที่ป้องกันการทำความเสียหายต่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นอาชญากรรม แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบันไม่ได้แยกว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นทำความเสียหาต่อคนหรือต่อคอมพิวเตอร์  และความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกกำหนดให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้  หากเป็นเรื่องของอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายต่อคอมพิวเตอร์ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความวุ่นวายโกลาหลหรือเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เช่น การส่งไวรัสเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของโรงไฟฟ้า หรือสัญญาณไฟจราจร แต่หากเป็นการทำความเสียหายต่อคน เช่น การหมิ่นประมาท ซึ่งปกติแล้วเป็นความผิดยอมความได้ แต่เมื่อมาเขียนอยู่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯกลับไม่สามารถยอมความได้
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บล็อกนัน แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทำหน้าที่เหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาทในอินเทอร์เน็ต ถ้าเปลี่ยนคำนิยามแล้ว ความเป็นกฎหมายหมิ่นประมาทก็จะหายไป  อาทิตย์ตอบว่า ใช่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมิ่นประมาทออนไลน์กันได้  เพราะมีกฎหมายอาญาที่ใช้กับกรณีหมิ่นประมาทโดยทั่วไปอยู่แล้ว
You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว