โซ่ตรวนนักโทษ : มิติทางกฎหมาย

“ตรวน” เป็นเครื่องพันธนาการอย่างหนึ่ง ที่กรมราชทัณฑ์นำมาใช้กับนักโทษ ลักษณะของตรวนคือ เป็นห่วงเหล็กที่นำมาคล้องเข้ากับข้อเท้าทั้งสองข้างข้างละ 1 เส้น และร้อยห่วงทั้งสองเข้าด้วยโซ่อีกหนึ่งเส้น เครื่องพันธนาการนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โซ่ตรวน”

นักโทษที่ใส่ตรวนจะเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก  ไม่สามารถก้าวขากว้างๆ ได้ ไม่สามารถเดินหรือวิ่งด้วยความเร็วได้เพราะน้ำหนักของโซ่ตรวนที่ขาทำให้ยากแก่การหลบหนี หรือการต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน
ตามปกติแล้ว นักโทษที่ถูกคำพิพากษาให้จำคุก โทษที่เขาได้รับคือการสูญเสียอิสรภาพในการเดินทาง ส่วนนักโทษที่ถูกคำพิพากษาให้ประหารชีวิต โทษของเขาคือการถูกประหารชีวิตเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการที่นักโทษจะต้องถูกพันธนาการด้วยเครื่องมือใดติดตัวตลอดเวลา อันจะทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกและได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกาย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตีตรวน
พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 กำหนดเรื่องการใช้เครื่องพันธนาการไว้ว่า
           
            มาตรา ๑๔  ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่
            (๑) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
            (๒) เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตไม่สมประกอบอันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น
            (๓) เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม
            (๔) เมื่อถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ
            (๕) เมื่อรัฐมนตรีสั่งว่าเป็นการจำเป็นจะต้องใช้เครื่องพันธนาการเนื่องแต่สภาพของเรือนจำหรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น
            ภายใต้บังคับอนุมาตรา (๔) และ (๕) แห่งมาตรานี้ ให้พัศดีเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังและที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้น
ส่วนเครื่องพันธนาการที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้เป็นอย่างไรนั้น ต้องดูในกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน มาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ซึ่งเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ กฎกระทรวงนี้ถูกแก้ไขหลายครั้งตามยุคสมัยและวิธีคิดเกี่ยวกับการดูแลนักโทษจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งกำหนดไว้ว่า 
            ข้อ ๒๕ เครื่องพันธนาการที่จะใช้แก่ผู้ต้องขังนั้นมี ๔ ประเภท คือ
            (๑) ตรวน
            (๒) กุญแจมือ
            (๓) กุญแจเท้า
            (๔) โซ่ล่าม
            ข้อ ๒๖ ตรวนมี ๓ ขนาด คือ
            (๑) ขนาดที่ ๑ วัดผ่าศูนย์กลางเหล็กวงแหวน ๑๐ มิลลิเมตร
            (๒) ขนาดที่ ๒ วัดผ่าศูนย์กลางเหล็กวงแหวน ๑๒ มิลลิเมตร
            (๓) ขนาดที่ ๓ วัดผ่าศูนย์กลางเหล็กวงแหวน ๑๗ มิลลิเมตร
            โซ่ระหว่างวงแหวนของตรวนขนาดที่ ๑ และขนาดที่ ๓ ให้มีความยาวไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตรและไม่เกิน ๗๕ เซนติเมตร กับให้มีขนาดของลูกโซ่ซึ่งวัดผ่าศูนย์กลางเหล็กสำหรับขนาดที่ ๑ ไม่เกิน ๑๐ มิลลิเมตร และสำหรับขนาดที่ ๓ ไม่เกิน ๑๗ มิลลิเมตร ส่วนโซ่ระหว่างวงแหวนของตรวนขนาดที่ ๒ ให้มีความยาวไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๗๐ เซนติเมตร กับให้มีขนาดของลูกโซ่ซึ่งวัดผ่าศูนย์กลางเหล็กไม่เกิน ๔.๗๕ มิลลิเมตร
            ข้อ ๒๘  การใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังนั้น โดยปกติให้ใช้ตรวนขนาดที่ ๑ หรือขนาดที่ ๒ หรือกุญแจเท้า เว้นแต่เห็นว่ามีเหตุจำเป็นหรือศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกผู้ต้องขังนั้นตั้งแต่สามปีขึ้นไป หรือเป็นผู้ต้องขังในคดีอุกฉกรรจ์จะใช้ตรวนขนาดที่ ๓ ก็ได้
            เมื่อมีเหตุน่าเชื่อว่าผู้ต้องขังจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายผู้อื่น และเห็นว่าไม่มีทางอื่นที่จะป้องกันได้ดีกว่า ให้ใช้กุญแจมือหรือโซ่ล่ามเพิ่มขึ้นนอกจากตรวน หรือกุญแจเท้าได้
            ในกรณีที่ต้องนำตัวคนต้องขังหรือคนฝากไปนอกเรือนจำ ถ้าจะใช้เครื่องพันธนาการ ให้ใช้กุญแจมือ เว้นแต่คนต้องขังในคดีอุกฉกรรจ์จะใช้ตรวนหรือกุญแจเท้าก็ได้
กฎกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้เป็นกฎที่กำหนดที่ทางของการใช้ตรวนกับนักโทษไว้อย่างชัดเจน ว่าตรวนมีลักษณะอย่างไร มีขนาดเท่าไร และจะใช้อย่างไร เมื่อประกอบกับมาตรา 14 ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขที่จะนำตรวนมาใช้กับนักโทษไว้ จึงถือว่ามีกฎหมายกำหนดกรอบกติกาการใช้ตรวนไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กรมราชทัณฑ์ยังใช้บันทึกข้อความ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาจำและถอดเครื่องพันธนาการ (ตรวน) ให้แก่ผู้ต้องขัง ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2548 กำหนดให้ผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารชีวิตจำเครื่องพันธนาการไว้ตลอดด้วย ทำให้นักโทษที่ถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตทุกคนจะต้องถูกตีตรวนทันทีที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ และจะต้องถูกพันธนาการไว้ตลอดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา หรือได้รับการอภัยโทษ หรือถูกประหารชีวิตเรียบร้อยแล้ว
มีการกล่าวกันว่า [1] สำหรับนักโทษคดียาเสพติด มีกติกาอยู่ด้วยว่า การใส่ตรวนจะพิจารณาจากจำนวนของกลาง 
หากของกลางยาบ้าไม่เกิน 1,000 เม็ด ก็ไม่ต้องถูกใส่ตรวน
หากของกลางยาบ้า 1,000 – 100,000 เม็ด จะถูกใส่ตรวนที่เบาที่สุดคือประมาณ 2 กิโลกรัม มีห่วงโซ่ 16 ห่วง
หากของกลางยาบ้า 100,000 – 1,000,000 เม็ด จะถูกใส่ตรวนที่หนักประมาณ 5 กิโลกรัม มีห่วงโซ่ 12 ห่วง
หากของกลางยาบ้า 1,000,000 เม็ดขึ้นไป จะถูกใส่ตรวนที่หนักที่สุดคือประมาณ 10 กิโลกรัม มีห่วงโซ่ 6 ห่วง
ส่วนคดีความผิดฐานอื่นก็จะถูกตีตรวนตามความหนักเบาของคดี
แต่การใส่ตรวนยังมีข้อยกเว้นตามกฎกระทรวงมหาดไทย สำหรับนักโทษที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือนักโทษหญิง ก็ไม่ต้องใส่ตรวน 
            ข้อ ๒๙  เครื่องพันธนาการซึ่งกำหนดไว้ในกฎนี้ มิให้ใช้แก่ผู้ต้องขังอายุเกิน ๖๐ ปี หรือผู้ต้องขังหญิง เว้นแต่เป็นคนดุร้ายหรือเสียจริตซึ่งจำต้องป้องกันมิให้ก่อภยันตรายหรือเป็นผู้ต้องขังชายซึ่งดำเนินตามความในข้อก่อน
คำพิพากษาบรรทัดฐาน
การใส่ตรวนให้นักโทษประหารชีวิตชีวิตทุกคนโดยไม่ีมีเหตุผลอื่น และการใส่ตรวนนักโทษทุกครั้งที่ต้องนำตัวไปศาล ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ที่ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้นักโทษได้รับความทุกข์ทรมาน และไม่มีเหตุจำเป็นให้ใส่เครื่องพันธนาการได้ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์  
ประเด็นนี้ถูกนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 747/2550 หรือคดีหมายเลขแดงที่ 1438/2552 ผู้ฟ้องคดีคือนาย มาล์คอม เดนิส ลิม เซียว พิง ชาวมาเลเซียผู้ต้องโทษประหารชีวิตฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฟ้อง กรมราชทัณฑ์ ขอให้ปลดตรวนที่ตนถูกบังคับให้ใส่
ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ตนถูกพันธนาการด้วยตรวนน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัมมาตั้งแต่ปี 2549 โดยที่กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจใส่ตรวนตน เพราะพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใส่ตรวนนักโทษเพราะเหตุว่าศาลมีคำพิพากษาลงโทษสูง การใส่ตรวนจึงขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ขณะที่กรมราชทัณฑ์ต่อสู้ว่า การพิจารณาว่าบุคคลใดน่าจะพยายามหลบหนีการควบคุมหรือไม่ ต้องพิจารณา ระบบเสริมความมั่นคงของเรือนจำประกอบด้วย และผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตย่อมมีแรงจูงใจโดยสัญชาตญาณที่ต้องการรักษาชีวิตให้รอด ซึ่งทางหนึ่งก็คือการหลบหนี การปล่อยให้ผู้ต้องขังเคลื่อนไหวร่างการได้โดยอิสระแล้วอาจรวมตัวกันก่อเหตุร้ายด้วยการแหก(หัก)เรือนจำเพื่อหลบหนีได้ การใส่ตรวนจึงเป็นเหตุจำเป็นตามมาตรา 14(3)
คดีนี้ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 วางบรรทัดฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใส่ตรวนนักโทษไว้หลายประการ เช่น
            
            1. ศาลเห็นว่าการใส่ตรวนนักโทษเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีลักษณะเป็นการทรมาน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา32 และเป็นการทำให้เสียหายต่อร่างกายขัดต่อมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
            2. ศาลเห็นว่า การใส่ตรวนขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ข้อ 1, 5 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิผลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 7, 10(1) ซึ่งมีผลใช้บังคับในประเทศไทย และขัดต่อกฎมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษขององค์การสหประชาชาติ ข้อ33 ซึ่งแม้ไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แต่ก็เป็นเอกสารที่สังคมสหประชาชาติเห็นชอบ กรมราชทัณฑ์จึงควรใช้เป็นแนวทางด้วย และศาลก็สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาถึงความเหมาะสมของการใช้เครื่องพันธนาการได้
            3. ศาลเห็นว่า การอ้างเรื่องระบบความมั่นคงของเรือนจำนั้น เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องขัง การอ้างข้อขัดข้องด้านอาคารสถานที่ที่ไม่รัดกุมเพียงพอเพื่อใส่ตรวนผู้ต้องขัง เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะตกกับผู้ต้องขัง
            4. ศาลเห็นว่า การจำตรวนผู้ต้องขังที่มีโทษประหารชีวิตไว้ตลอดเวลาโดยเห็นว่าเป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนี ตามมาตรา 14(3) โดยไม่ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องขังแต่ละรายว่าจะหลบหนีหรือไม่ แต่นำเหตุเรื่องโทษประหารชีวิตมาเป็นข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องขังจะหลบหนี ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นการคาดการณ์ของกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต
            5. ศาลเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ตามคำพิพากษาของศาล แต่เป็นเพียงการสั่งให้ควบคุมหรือจำคุกซึ่งหมายถึงการจำกัดอิสรภาพเท่านั้น กรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิที่จะกระทำการใดๆ แก่เนื้อตัวร่างกายของผู้ฟ้องคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้
ดังนั้นศาลปกครองจึงพิพากษาให้กรมราชทัณฑ์ระงับการจำตรวนแก่นายมาล์คอม เดนิส ลิม เซียว พิง ผู้ฟ้องคดี 
แต่อย่างไรก็ดี กรมราชทัณฑ์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครอง ต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ทำให้ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน นายมาล์คอม ยังต้องใส่ตรวนอยู่และยังไม่ได้รับการปลดเลย แม้ว่าจะมีคำพิพากษาศาลปกครองรองรับอยู่แล้วก็ตาม
จึงน่าสนใจว่าศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยกรณีนี้แตกต่างไปจากศาลปกครองหรือไม่อย่างไร หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น คดีนี้อาจเป็นบรรทัดฐานสำคัญให้กับการใส่ตรวนนักโทษที่ได้รับโทษประหารชีวิตรายอื่นในเรือนจำของไทยต่อไปด้วย 
แต่ยังมีปัญหาน่าคิดอีกว่า กรณีการใส่ตรวนนักโทษทุกคนทุกกรณีเมื่อนำตัวออกไปนอกเรือนจำโดยไม่ปรากฏเหตุสมควรใดเป็นการเฉพาะจะชอบด้วยพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 14(4) หรือไม่ มีวิธีการอื่นหรือไม่ที่อาจที่กระทบต่อความเป็นมนุษย์ของนักโทษน้อยกว่า เช่น การใช้เครื่องพันธนาการอื่นอย่างเช่นกุญแจมือ ก็อาจเพียงพอสำหรับการป้องกันการหลบหนีได้
…………………………………………
[1] ส.แม่ปิง, สารคดีเรื่อง 3,000 วัน บนเส้นทางแห่งการสูญเสียอิสรภาพสู่นรกบนดิน, อิสรภาพบนเส้นบรรทัด ๑๓ นักโทษประหาร (พิมพ์ครั้ง 4), กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สารคดี , 2555
ไฟล์แนบ