ลงชื่อ หยุดกรมประมงนิรโทษกรรมอวนลาก

การทำประมงด้วยเครื่องมือประมงอวนลาก เป็นการประมงที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลมากที่สุด 

อวนเป็นเครื่องมือที่ติดอยู่กับเรือ จะลากครูดไปกับพื้นท้องทะเล กวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปตั้งแต่่ระดับกลางน้ำไปจนจรดพื้นท้องทะเล ไม่เพียงแต่ปลาและสัตว์ทะเลทุกประเภททุกวัยเท่านั้น แต่ยังกวาดเอาปะการัง และหน้าดินพื้นท้องทะเลไปจนหมดสิ้น 
อวนลากไม่เพียงแต่ทำลายสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศสัตว์น้ำชายฝั่ง แต่ยังได้ทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่วางทิ้งไว้ในทะเลเพื่อดักจับสัตว์น้ำให้เสียหายอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าการทำประมงอวนลากส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อตัวทรัพยากรทะเลและวิถีการทำประมงของชุมชนชายฝั่งซึ่งเป็นชาวประมงส่วนใหญ่ของประเทศ
ปี 2523 กรมประมงประกาศไม่ให้จดทะเบียนเรืออวนลากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับมีเรืออวนลากผิดกฎหมายที่ไม่มีทะเบียนที่ถูกต้อง หลักหมึ่นลำ ลักลอบจับปลาอยู่ในอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน รวมทั้งในเขตทะเลของเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ท้องทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว โดยที่กรมประมงไม่สามารถทำอะไรได้
สหภาพยุโรปลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้ออาหารทะเลจากไทย ประกาศมาตรการ "IUU Fishing” หรือ Illegal, Unreported and Unregulated Fishing ซึ่งหมายความว่าสหภาพยุโรปจะไม่นำเข้าสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฏหมาย ส่งผลให้เรือประมงอวนลากเถื่อนเหล่านี้โดนใบแดง ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปได้อีก 
แต่กรมประมงภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อ "นิรโทษกรรมอวนลาก" หรือการอนุญาติให้เรืออวนลากผิดกฏหมายจำนวน 2,107 ลำ มาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมาย อันเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของมาตรการ IUU Fishing ของสหภาพยุโรป และเสมือนเป็นการทำสิ่งผิดให้กลายเป็นสิ่งถูก
ก่อนหน้านี้ สมาคมรักษ์ทะเลไทยและเครือข่ายประมงพื้นบ้านออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายดังกล่าวของกรมประมง แต่การเรียกร้องดังกล่าวอาจยังไม่มีพลังเพียงพอ สมาคมรักษ์ทะเลไทยจึงร้องขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องไปยังกรมประมง ผ่านการลงชื่อออนไลน์ทางเว็บไซต์ change.org
ข้อความในเว็บไซต์ change.org ระบุว่า
"ขอให้ทุกคนช่วยลงนามเพื่อสร้างพลังกดดัน เพราะตอนนี้ คณะรัฐมนตรีกำลังเตรียมอนุมัติ อย่าปล่อยให้ทรัพยากรทะเลซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของเราต้องโดนทำลายอีกต่อไป"
ภาพขยะจากท้องทะเล ที่เกิดจากการใช้อวนลาก