นานาทัศนะ คนทำหนังสั่งแบน พ.ร.บ.ภาพยนตร์

วันที่ 28 มิถุนายน 2551 หลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์ – วีดิทัศน์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจัดงานเสวนาเรื่อง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2551 ขัดขวางสิทธิและเสรีภาพของผู้ชม และผู้สร้างภาพยนตร์หรือไม่ : ศึกษาจากภาพยนตร์ห้ามฉาย ดำเนินรายการโดย ญิบ พันจันทร์

ราชการไทยเอาแต่ใจ
จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการสิทธิและพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การมีกฎหมายมาควบคุมภาพยนตร์โดยยอมให้เซ็นเซอร์ภาพยนตร์ก่อนการออกฉายถือเป็นเรื่องล้าสมัยมาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดว่า ภาพยนตร์ทุกเรื่องต้องขออนุญาตกระทรวงวัฒนธรรมก่อนออกฉายเพื่อกำหนดเรตติ้งภาพยนตร์ แต่แม้จะเริ่มใช้ระบบการจัดเรตติ้งแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่ภาพยนตร์จะถูกจัดอยู่ในเรตห้ามฉายภาพยนตร์ได้ ซึ่งจอนเห็นว่า โดยธรรมชาติของราชการ อะไรที่ไม่ตรงใจ ดูแล้วไม่เข้าใจ ก็จะยิ่งไม่อยากให้เอาไปฉาย ก็อยากจะแบนแล้ว เป็นวิธีคิดแบบราชการและผู้มีอำนาจในสังคมทั่วโลกที่คิดว่าตัวเองต้องออกมาปกป้องศีลธรรมอันดี
จอน เห็นว่า แม้พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ จะกำหนดให้กรรมการหลายคนมาจากภาคเอกชน แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในกลไกของรัฐ มันก็คือการรับใช้หรือทำหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องทำหน้าที่เซ็นเซอร์ ดังนั้น การตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ก็อาจต้องคุยกันว่า จะยกเลิกกฎหมายเลย หรือจะแก้ไข 
จะปิดจะกั้น ไม่เคยมีมาตรฐานชัดเจน
ภาณุ อารี ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Baby Arabia กล่าวว่า "วันที่ทุกคนได้ยินว่า เราเปลี่ยนระบบเซ็นเซอร์มาใช้เรตติ้ง ทุกคนน่าจะอยากฉลองชัย แต่กฏกลายเป็นว่าเราอาจต้องเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่า เพราะตัวอย่างหนังที่ถูกแบนสองเรื่อง มันไม่มีคำอธิบายเหตุผลที่ชัดเจน" ภาณุกล่าว เขาเห็นว่าภาพยนตร์ยังถูกมองเป็นสิ่งเลวร้าย หลักการที่ใช้เกี่ยวกับการตัดสินหนัง เช่น เงื่อนไขด้านความมั่นคงและศีลธรรมมันคือวิธีคิดแบบเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ซึ่งสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ทัศนคติของคนที่มีอำนาจยังคิดแบบเดิม 
มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Shakespeare Must Die ภาพยนตร์ที่ได้รับเรตห้ามฉายเมื่อเดือนเมษายน 2552 สะท้อนความรู้สึกที่มีต่อกระทรวงวัฒนธรรมว่า "ท่านบอกว่าหนังผมผิดศีลธรรม แต่บอกไม่ได้ว่าผิดศีลธรรมตรงไหน ท่านกำลังเสียศีลธรรมของตนเอง ท่านบอกว่าเนื้อหาเรื่องนี้ทำให้เสียเกียรติภูมิของประเทศ แต่ก็อธิบายไม่ได้" 
เซ็นเซอร์หนัง สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อ สวนทางสังคมประชาธิปไตย
ด้านสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Shakespere Must Die กล่าวว่า การทำหนังไม่ใช่เรื่องเล็กๆ มันมีความลึกซึ้งมาก สังคมไทยมีภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ ให้คนจงทำดี ต้องไปวัด แต่คนเราไม่มีภูมิต้านทานอะไรเลย  "เราอยากจะทำหนังให้คนรู้จักคิดและไม่ถูกชักจูงได้ง่าย แต่รัฐก็ต้องการเก็บกฎหมายนี้เพื่อชวนเชื่อและให้จูงจมูกได้ง่าย"
"ตราบใดที่จินตนาการของภาพยนตร์ไทยยังถูกจำกัดสิทธิขนาดนี้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีประชาธิปไตย" สมานรัชฎ์ กล่าว
ก้อง ฤทธิ์ดี ผู้กำกับสารคดีและสื่อมวลชน กล่าวว่า มันตลกดีที่เวลานี้เรายังมาพูดเรื่องเซ็นเซอร์ ยังจะมาห้ามอะไรในเมื่อยกโทรศัพท์ขึ้นมาก็ดูได้ทุกอย่างในโลกแล้ว ถ้าเราโดนแบน วิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือ เราก็อัพโหลดลงอินเทอร์เน็ต พูดแบบเกรียนๆ ก็คือ กูจะเอาชนะมึง เราก็อาจส่งไปให้เพื่อนที่อเมริกาอัพโหลดได้ กฎหมายไม่ได้ตามโลก มันดึกดำบรรพ์ 
โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า แปลกใจที่ทำไมต้องให้มีคนมาคิดให้ว่าเราควรจะดูหนังอะไร ในเมื่อเราก็เลือกตั้งได้ตั้งแต่อายุ 18 ผมว่าเรื่องเซ็นเซอร์หนังมันเก่าแล้ว อย่างเราดูหนังทำรายได้ร้อยล้านก็แปลว่ามีคนดูไม่ถึงล้านคน หนังที่ทำรายได้ 20-30 ล้านก็คือมีคนดูแค่หลักหมื่น แต่เดี๋ยวนี้คลิปยูทู้ป คืนเดียวคนก็ดูเป็นล้านแล้ว
ด้านสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้ข้อมูลว่า หนังต่างประเทศปีที่แล้ว ส่งมาให้พิจารณา 2,000 เรื่อง ถูกแบนไป 17 เรื่อง ขณะที่หนังไทย ส่งเข้าปีละ 50 เรื่อง ถูกแบนแค่ปีละ 1-2 เรื่องเท่านั้น หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นยืนพร้อมชูเสื้อยืดที่มีข้อความรณรงค์ว่า “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” จากนั้น สมานรัชฎ์ กล่าวว่า เมื่อทำหนัง ก็ต้องคิดรายละเอียดต่างๆ บนความรับผิดชอบทั้งหมด แต่ผู้ใช้อำนาจต่างหาก ที่ใช้อำนาจอย่างไม่มีความรับผิดชอบ
 
ที่มาภาพดั้งเดิม didbygraham
เสนอแก้ไขกฎหมาย ตัดมาตราว่าด้วยเซ็นเซอร์
จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า หากต้องการยกเลิกการเซ็นเซอร์ ทางหนึ่งที่จะทำได้คือ การใช้สิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อหนึ่งหมื่นชื่อเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์ เขาเห็นว่าภาพยนตร์ควรอยู่ในระดับเดียวกับสื่อประเภทอื่นๆ คือไม่ต้องถูกตรวจก่อนการเผยแพร่ แต่ถ้ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เช่น ไปดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น ก็สามารถใช้กฎหมายอาญาทั่วไปดำเนินคดีได้
รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า มาตราที่กำหนดการห้ามฉายนั้นควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ซึ่งสมาพันธ์ภาพยนตร์เองเคยมีข้อเสนอด้วยว่า หากจะตัดเนื้อหาในมาตรา 23 และ 29 ทิ้งไปก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าคงไว้ มันก็เหมือนพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับเก่า
"ในความเห็นของผม ผมคิดว่าน่าจะตัดมาตรา 29 (เรื่องอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์) ทิ้งไป และตัดมาตรา 26 (7) (การกำหนดเรตห้ามฉายภาพยนตร์) ทิ้งไป" รศ.บรรจงกล่าว
ในวงเสวนามีการตั้งประเด็นว่า ภาพยนตร์อาจไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็น “สื่อ” ที่จะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์เห็นว่า "เมื่อมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิ แต่ทำไมภาพยนตร์ยังคาอยู่ มันเหมือนเป็นอุบัติเหตุในการเขียนรัฐธรรมนูญ เหมือนใครคนหนึ่งลืมพิมพ์คำว่าภาพยนตร์ลงไป มันเป็นอุบัติเหตุในการเขียนกฎหมายมากกว่า แล้วภาคราชการก็ทำงานตามตัวอักษร ทั้งที่เขาไม่เข้าใจว่าภาพยนตร์คืออะไร ทั้งที่ถ้าเขาเข้าใจมันจะทำประโยชน์ให้ภาพยนตร์มากกว่านี้"
ไม่เอาเซ็นเซอร์ ต้องทำมากกว่าคัดค้านกฎหมาย
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงเนื้อหากฎหมายหลายอย่างให้เป็นแบบที่ประชาชนไม่ต้องการ หลายคนในกฤษฎีกาเห็นว่าต้องมีกฎหมายแบบกันไว้ดีกว่าแก้ ต่อให้มีกฎหมายอื่นๆ เช่นกฎหมายหมิ่นประมาท ฯลฯ ก็ไม่พอ เพราะกฤษฎีกาเห็นว่า หนังได้ออกไปทำร้ายผู้คนแล้ว และคนในกฤษฎีกาก็บอกว่า ถึงแม้ท่านจะใส่ซีดีไม่เป็นแต่ก็รู้ว่าหนังคืออะไร เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า เวลาวิพากษ์พ.ร.บ.ภาพยนตร์ จะโทษกระทรงวัฒนธรรมอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะมีกระบวนการหลากหลาย 
ชลิดาเห็นเช่นกันว่า ถ้ามีการแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์ ก็น่าจะตัดมาตรา 26(7) ซึ่งเป็นเรตกำหนดห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ในราชอาณาจักร เพราะการแบนไม่ใช่การจัดเรต และเสนอให้ตัดมาตรา 29 ซึ่งเป็นมาตราที่ให้อำนาจกรรมการพิจารณาสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ด้วย
"แค่คัดค้านกฎหมายมันไม่พอ แต่ถ้าเราจะถามคนในสังคมว่าจะอยู่กับความหลากหลายได้ไหม นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถาม" ชลิดากล่าวและเห็นว่า เรื่องพ.ร.บ.ภาพยนตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของคนทำหนัง แต่เป็นเรื่องการปิดหูปิดตาคนทั่วไป ซึ่งประชาชนทุกคนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราอยากจะอยู่กับความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เสนอทางเลือกสำหรับการต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม คือ ให้ดื้อแพ่ง ซึ่งถือเป็นหลักที่ยอมรับในทางสากลแต่ไม่มีการเขียนไว้ในกฎหมาย คือเมื่อเราเห็นว่ากฎหมายไหนไม่เป็นธรรม ก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องยอมรับโทษตามกฎหมายที่จะตามมา
จอน อึ๊งภากรณ์ เห็นว่า ถ้าประชาชนเห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรมก็มีวิธีการท้าทายได้หลายแบบ ทางหนึ่งคือช่วยกันทำให้สังคมตื่นตัว ซึ่งจอนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งทำงานส่งเสริมกฎหมายประชาชนและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จะเปิดประกวดให้ประชาชนทั่วไปทำหนังสั้นภาพยนตร์ต้องห้าม ให้คนทำหนังเพื่อล้อเลียนเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย โดยจะเผยแพร่รายละเอียดในเว็บไซต์ iLaw เร็วๆ นี้
ก้อง ฤทธิ์ดี เห็นว่า เมื่อต้องนิยามคำว่าวัฒนธรรม ต้องเลิกมองในแง่สิ่งเก่าแก่ แต่ควรมองในมุมร่วมสมัยด้วย เพราะโลกไหลไปเร็วมาก เราจะอยู่แบบ 70 ปีที่แล้วไม่ได้ และสิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องคำนึงคือ ทำอย่างไรให้ภาพยนตร์แบบ Insects in the Backyard และ Shakespeare Must Die ดึงดูดคนมาก เพราะแน่นอนว่ายังไงก็เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ดึงดูดคนอยู่แล้ว
"ผมว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ มองด้วยความเป็นกลาง เราอาจต้องการเรตอายุ แต่ที่ไม่ควรมีคือเรทห้ามฉาย" ก้องกล่าว