Net Neutrality: เมื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตถูกคาดหวังให้เป็นกลาง

โดย ปียาภัสณ์ ระเบียบ

ในปี 2006 เกิดความวุ่นวายขึ้นในแวดวงผู้ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเช่น Verizon, AT&T และ Comcast ต้องการคิดค่าบริการจากผู้ให้บริการเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตเช่น Google จากการส่งข้อมูลไปยังผู้บริโภคผ่านสายเคเบิ้ล [1] และยังเสนอการแบ่ง "ช่องทางพิเศษ" ในการส่งข้อมูลสำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการความเร็วอินเทอร์เน็ตสูง เช่นเว็บรวมวีดีโอ หนัง เช่น YouTube

ผู้สนับสนุนกล่าวว่า นโยบายนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้สามารถนำไปขยายโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต และจะนำไปสู่การเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ ด้วยการส่งมอบบริการที่ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ถูกวิจารณ์ว่า จะเปลี่ยนแปลงระบบอินเทอร์เน็ตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เพื่อต่อต้านนโยบายนี้ มีการเสนอแนวคิดเรื่อง “Net Neutrality” หรือเครือข่ายที่เป็นกลาง หรือกล่าวให้ชัดคือ ความเป็นกลางในการให้บริการอินเทอร์เน็ต

แม้คำจำกัดความของคำว่า "เครือข่ายที่เป็นกลาง" นี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่แนวคิดโดยรวมนั้นหมายถึงการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายเก็บค่าบริการจากผู้บริโภคในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยไม่จัดลำดับความสำคัญของผู้ให้บริการเนื้อหา และไม่เก็บค่าบริการจากผู้ให้บริการด้านเนื้อหาในการส่งข้อมูลตามสายเคเบิลไปยังผู้บริโภค [2] ส่งผลให้อินเทอร์เน็ตเป็นเพียงท่อส่งข้อมูลที่ไม่มีอำนาจจำแนกลักษณะเนื้อหาใดๆ

คลิปวีดิโอของกลุ่มที่เชื่อในหลักการ Net Neutrality โดยเห็นว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ควรมีบทบาทในการแบ่งแยกเนื้อหา
 

หลากระดับผู้ให้บริการ กว่าจะถึงปลายนิ้วผู้บริโภค
ระบบอินเทอร์เน็ตประกอบไปด้วยผู้เล่นในสี่ระดับนั่นคือ 1.the Internet Backbone Networks หรือเครือข่ายระหว่างประเทศ ที่ทำหน้าที่รวบรวมเครือข่ายในประเทศและนำมาเชื่อมต่อกัน เช่น DNSมีรายได้จากผู้เล่นในข้อสองคือ 2.Broadband service provider หรือผู้ให้บริการสายโทรศัพท์ไปตามบ้าน อย่างในประเทศไทย เช่น ทีโอที ทรู และ 3BB ฯลฯ มีรายได้จากผู้ใช้สายโทรศัพท์ หรือผู้บริโภคตามบ้านนั่นเอง  3.Content Provider: ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา เช่น Google, Amazon และ eBay เป็นผู้ใส่เนื้อหาลงไปในระบบ 4.end-users หรือผู้บริโภคอย่างเราๆ และธุรกิจต่างๆ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้บริการเว็บไซต์เหล่านี้

เมื่อระบบเก็บเงินเช่นนี้ ผู้เล่นในข้อสองหรือผู้ให้บริการสายโทรศัพท์ก็อ้างว่า ผู้ให้บริการเนื้อหา หรือContent Provider เป็น Free Rider คือผู้มีรายได้บนอินเทอร์เน็ตโดยที่ไม่ได้โดนเก็บเงินจากช่องทางไหน ยกเว้นแต่เสียค่าเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่ออัพโหลดข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ของตนในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งนั่นเอง จึงออกนโยบายที่จะเก็บเงินจากผู้ให้บริการด้านเนื้อหา โดยเสนอระบบเก็บเงินที่ผู้จ่ายจะสามารถเข้าถึงช่องทางพิเศษที่รวดเร็วกว่า ไล่ตามลำดับความเร็วที่ต้องการและปริมาณเนื้อหาที่ใส่ลงมา

ทาง(ที่ต้อง) เลือก? : เป็นกลาง เท่าเทียม vs นวัตกรรม การพัฒนา
ผู้ให้บริการเนื้อหายืนยันการสนับสนุนรูปแบบการเก็บเงินแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างถึงหลักการพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตที่มีมาตั้งแต่การก่อตั้งว่า อินเทอร์เน็ตควรเป็น “พื้นที่แห่งความเสมอภาค” เว็บไซต์ที่ดำเนินการบนอินเทอร์เน็ตก็ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยสามารถจ่ายเงินเท่ากันเพื่อเข้าถึงบริการที่เท่ากัน ไม่ใช่มีช่องทางพิเศษสำหรับเว็บใดๆ โดยหลักการนี้จะช่วยส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ และการยึดมั่นในหลักเสรีภาพในการแสดงออก

Larry Lessig นักวิชาการเชิงรัฐศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนเครือข่ายที่เป็นกลาง เห็นว่าบรรยากาศบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเชื่อมโยงเข้าสู่อินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม เป็นบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการลงทุนและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต และเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วบนโลกอินเทอร์เน็ตในทศวรรษที่ผ่านมา

หากมีการเก็บเงินจากผู้ให้บริการเนื้อหา เหล่านักลงทุนบนอินเทอร์เน็ตก็จะไม่กล้าที่จะเริ่มธุรกิจใหม่ๆเนื่องจากมีต้นทุนในการลงทุนที่สูงขึ้น แถมยังเปิดโอกาสให้บริษัทใหญ่ๆ กีดกันตลาดได้ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจการลงทุนในระยะยาว นอกจากนี้ระบบเก็บเงินอาจเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตให้เหมือนสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน เช่น ทีวี หนังสือ ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถควบคุมได้ว่าผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเนื้อหาใดได้ ทำให้อินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นพื้นที่เสรีภาพอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์เช่น Robert Hahn และ Scott Wallsten กล่าวว่า การเก็บเงินจากผู้ให้บริการเนื้อหาจะยิ่งทำให้ผู้บริโภคใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะบริการทางอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ อย่างการส่งวีดีโอสดผ่านอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น การแพทย์ทางไกล Telemedicine การผ่าตัดผ่านกล้องโดยการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังแพทย์ที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่ผ่าตัด หากใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังทำได้ยาก แต่หากมีการแบ่งช่องทางพิเศษสำหรับการผ่าตัดนี้ ก็จะสามารถแยกการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการผ่าตัด ออกจากการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงอย่างการเล่นเกมส์ออนไลน์ของคนทั่วไป ส่งผลให้จราจรทางเน็ตไหลไปได้เร็วขึ้น การเก็บค่าบริการจากผู้บริการเนื้อหาให้เป็น “ศูนย์” ตามนโยบายเครือข่ายที่เป็นกลางนั้น จึงมีแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเท่านั้น

ฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายคัดค้าน
“Network Neutrality หรือ เครือข่ายที่เป็นกลาง" เป็นหลักการที่ระบุว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรเป็นผู้ควบคุมเนื้อหาที่เข้าชม และเลือกใช้โปรแกรมบนอินเทอร์เน็ตได้ตามที่ตนเองต้องการ อินเทอร์เน็ตได้ทำงานเช่นนี้มาตั้งแต่ยุคแรกของการก่อตั้ง… กล่าวง่ายๆ คือ เครือข่ายที่เป็นกลางทำให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม ในสายตาของเราผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ควรได้รับอนุญาติให้ใช้อำนาจทาง ตลาดมาแบ่งแยกเนื้อหาหรือโปรแกรม เช่นเดียวกับการที่เครือข่ายโทรศัพท์ไม่ควรได้รับอนุญาติให้ไปบังคับกับ ลูกค้าว่าสามารถโทรหาใคร และห้ามพูดอะไรได้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ไม่ควรได้รับสิทธิในการใช้อำนาจตลาดมาบังคับ กิจกรรมออนไลน์เช่นกัน"
– แนวทางสู่เครือข่ายที่เป็นกลางสำหรับผู้ใช้บริการกูเกิ้ล
"ถ้าธุรกิจต่างๆ สามารถจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงช่องทางพิเศษจากผู้ให้บริการเครือข่ายได้ ธุรกิจเหล่านี้ก็จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า การที่แอพใหม่ๆไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็นเนื่องจากอินเทอร์เน็ตไม่ เร็วพอนั้น ทำให้ความพยายามในการพัฒนาสูญเปล่าไป การแบ่งระดับการบริการเป็นหลักการพื้นฐานของธุรกิจอยู่แล้ว ธุรกิจหลากหลายชนิดสร้างตัวเลือกให้แก่ลูกค้าแต่ละระดับ และลูกค้าก็เป็นผู้เลือกบริการที่พึงพอใจเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป สิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกเรียกว่าเป็น การแบ่งแยก"
    – Robert E. Litan รองผู้บริหารด้านงานวิจัยและนโยบายที่สถาบันคอฟแมน และ Hal J. Singer อาจารย์มหาลัยธุรกิจแมคโดนูห์
"เครือข่ายที่เป็นกลางหมายถึงการไม่แบ่งแยก เครือข่ายที่เป็นกลางป้องกันผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตจากการบล็อก จากการเร่งหรือลดความเร็วในการเข้าถึงเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตแบ่งตามแหล่ง ที่มา เจ้าของหรือปลายทาง … อินเทอร์เน็ตที่เสรีและเปิดกว้างจะนำมาซึ่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับเว็บไซต์ต่างๆ การสูญเสียความเป็นกลางทางเน็ตคือจุดจบของโอกาสที่ดียิ่งของเสรีภาพในการ แสดงออก"
– SaveTheInternet.com
"นโยบายเครือข่ายที่เป็นกลางก็เป็นแค่อีกหนึ่ง "ความพยายาม" ของรัฐ ที่จะควบคุมสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน โดยแสร้งใช้ข้ออ้างว่าเป็นการตอบสนองต่อความล้มเหลวของกลไกตลาด เพื่อให้สามารถแทรกแซงการดำเนินการของเอกชนได้ นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่รัฐพยายามสร้างมโนภาพของวิกฤติขึ้นมาและ ใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อนำมาซึ่งอำนาจ โดยอ้างว่ากำลังช่วยเหลือประชาชนจากวิกฤติที่เกิดขึ้น"
    – Stephan Kinsella นักทฤษฏีด้านกฏหมายเสรีนิยม และทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา เขียนในบล็อก Mises Economics หลังกฏหมายเครือข่ายเป็นกลางผ่านสภา

มองจากสายตาคนธรรมดา วิวาทะครั้งนี้ก็เป็นเพียงการต่อสู้ของกลุ่มทุนใหญ่สองกลุ่มเท่านั้น ระหว่างผู้ให้บริการเครือข่าย/หรือผู้บริการเนื้อหา ว่าใครจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและต้องเสียประโยชน์ในเกมนี้ ทั้งสองฝ่ายอ้างเหตุผลสำหรับการกระทำว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ

แต่แท้จริงแล้ว Google เองที่อ้างเรื่องของความเสมอภาค สิทธิในการรับส่งข้อมูลข่าวสาร ผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ควรมาจำแนกเนื้อหาที่จะส่งไปยังผู้บริโภค แต่บริการของกูเกิ้ลเช่น Free-Wifi ที่ซานฟรานซิสโกก็มีเงื่อนไขที่ผู้ใช้บริการจะต้องรับโฆษณาที่เด้งเข้าเครื่องขณะใช้ Wifi หรืออย่างอเมซอนผู้สนับสนุนนโยบายเครือข่ายที่เป็นกลาง ก็มีการออก S3 Storage system หรือระบบเก็บค่าบริการเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ในราคาที่ต่างกัน คิดค่าบริการเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ราคาถูกเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้นฝ่ายผู้สนับสนุนเครือข่ายเป็นกลางเองก็ล้วนแต่เป็นผู้จำแนกเนื้อหาและหารายได้จากผู้บริโภคทั้งนั้น

ผู้ให้บริการเครือข่ายเอง แม้จะอ้างความจำเป็นที่จะต้องหารายได้เพื่อนำไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในการวางสายเคเบิ้ล เพื่อพัฒนาบริการทางอินเทอร์เน็ต แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายหลักคือการหารายได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งวิธีการหารายได้ก็อาจกระทบต่อโครงสร้างเดิมของระบบอินเทอร์เน็ตได้จริง

ดังนั้นแล้วในฐานะผู้บริโภค ก็ต้องไม่เพิกเฉยต่อนโยบายสองอย่างนี้ แม้นโยบายเหล่านี้จะยังไม่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในประเทศไทย แต่หากวันหนึ่ง กลุ่มเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหลายจับตัวกันขึ้นมา เราก็จะได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการเนื้อหาในประเทศไทย ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายเช่น Google, Amazon ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคม
 

อ้างอิง:

  • [1], [2] Hahn, Robert W. and Wallsten, Scott, The Economics of Net Neutrality (April 2006). AEI-Brookings Joint Center Working Paper No. RP06-13. Available at SSRN: http://ssrn.com/abstract=943757 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.943757
  • Economides, Nicholas and Tåg, Joacim, Network Neutrality on the Internet: A Two-Sided Market Analysis (December 12, 2011). Information Economics and Policy, 2012; NET Institute Working Paper No. 07-45; NYU Law and Economics Research Paper 07-40; NYU Working Paper No. 2451/26057. Available at SSRN: http://ssrn.com/abstract=1019121 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.1019121
  • Cheng, H. Kenneth, Bandyopadhyay, Subhajyoti and Guo, Hong, The Debate on Net Neutrality: A Policy Perspective (June 25, 2008). Information Systems Research, Forthcoming. Available at SSRN: http://ssrn.com/abstract=959944