นปช.ระดมชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฐานเบรกสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ตามที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าด้วยที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ผ่านไปสองวาระแล้วและกำลังจะเข้าสู่วาระที่สาม โดยการพิจารณาครั้งนี้ มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกนำมาพิจารณาพร้อมกันหลายฉบับซึ่งเสนอโดยพรรคการเมืองหลายพรรค และมีร่างสามฉบับที่เสนอโดยประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาด้วย

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ ,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร และคณะ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแยกกันรวมห้าคำร้อง โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งห้ามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
              “มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
              ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการ ดังกล่าว
              ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
              ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว”
ภายในวันเดียวกับที่ยื่นคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งเก้าท่าน ได้แก่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร  นายเฉลิมพล เอกอุรุ  นายชัช ชลวร  นายนุรักษ์ มาประณีต  นายบุญส่ง กุลบุปผา นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี มีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา โดยรวมทั้งห้าคำร้องไว้พิจารณาในคราวเดียวกัน พร้อมกับออกคำสั่งไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้รัฐสภาระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ที่มาภาพ ไทยอีนิวส์
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งดังกล่าว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ถึงความไม่ชอบธรรมของคำสั่งในครั้งนี้ ลักษณะที่มองว่าเป็นการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ 
คณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ แสดงความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่สามประเด็น ได้แก่
1. เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่กรณีนี้เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงไม่ใช่การกระทำของ "บุคคล" หรือ "พรรคการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
2. มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน อัยการสูงสุดจึงเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้บุคคลธรรมดายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองโดยไม่ได้ยื่นให้อัยการสูงสุดก่อน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อตั้งอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้จึงเป็นการเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจกระทำได้
หลายฝ่ายมองว่าการออกคำสั่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการตีความกฎหมายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย 
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสนอและเรียกร้องให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 เข้าชื่อประชาชนสองหมื่นชื่อเพื่อเสนอให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งเก้านายที่ออกคำสั่งดังกล่าว ออกจากตำแหน่ง อันเป็นกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 270
              “มาตรา 164 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อ ร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่งได้
              คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่ประชาชนจะเข้าชื่อร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
              มาตรา 270 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภา มีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
              บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ
              (1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน
              (2) ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
ปัจจุบัน นปช.อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอนตุลาการเก้านาย โดยเชิญชวนให้ประชาชนดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ถ.๔ ตามเอกสารแนบ และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประชาชนที่หมดอายุ หรือสำเนาบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายและทางราชการออกให้ พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง แล้วส่งเอกสารทั้งสองแผ่นมายัง ตู้ปณ.100 ปณศ.รองเมือง 10330
อ้างอิง
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์