ครก.ยื่น 26,968 รายชื่อแก้ไขม.112 ต่อสภา

คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 พร้อมประชาชนราว 300 คน นำรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 เดินเท้าจากหมุดอภิวัฒน์ ลานพระรูปทรงม้า ยื่นต่อรัฐสภา
29 พ.ค.55 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำโดยนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม ได้แก่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติราษฎร์, พวงทอง ภวัครพันธุ์, เวียงรัฐ เนติโพธิ์, วันรัก สุวรรณวัฒนา, สุดา รังกุพันธุ์, อนุสรณ์ อุณโณ, วาด รวี, จรัล ดิษฐาอภิชัย และจิตรา คชเดช นำรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ … (แก้ไขมาตรา112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์) ไปยื่นต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภานำไปพิจารณาออกเป็นกฎหมาย
การเข้าชื่อเสนอกฎหมายครั้งนี้ มาจากการรณรงค์ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา112 (ครก.112) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ใช้เวลา 112 วันในการรณรงค์สร้างความเข้าใจและรวบรวมรายชื่อประชาชน จนเมื่อครบกำหนดเวลาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ประสงค์จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมดไ้ด้ 39,185 รายชื่อ และเมื่อคัดแยกรายชื่อที่ซ้ำหรือเอกสารไม่ครบออกแล้ว เหลือรายชื่อที่สมบูรณ์นำมายื่นต่อรัฐสภาได้ทั้งหมด 26,968 รายชื่อ
 
 
 
 
บรรยากาศโดยรวมเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และประชาชนเข้าร่วมกว่า 300 คน มีการนำเอกสารผู้เข้าชื่อแก้ไขมาตรา 112 บรรจุลงกล่องดำจำนวน 12 กล่อง ใส่คอนหาม ซึ่ง "กล่องดำ" ผู้จัดทำตั้งใจจะสื่อความหมายให้เห็นถึงกล่องที่บรรจุไว้ซึ่งความจริงที่อาจถูกปฏิเสธว่ามองไม่เห็น โดยนัดกันบริเวณหมุดอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเวลา 9.00 ขบวนเริ่มออกเดินเท้าจากลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาประมาณ 9.30 น. และไปถึงหน้ารัฐสภาเวลาประมาณ 10.00 น. มีรถจักรยานยนต์นำหน้า และมีตัวเลข 39,185 ซึ่งเป็นจำนวนของผู้เข้าชื่อทั้งหมดปิดท้ายขบวน ตลอดเส้นทางมีการเปล่งเสียงให้แก้ไขมาตรา 112 
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือและรายชื่อทั้งหมด พร้อมด้วยจารุพรรณ กุลดิลก และประสิทธิ์ ไชยศรีษะ สส.พรรคเพื่อไทย โดยนายวิสุทธิ์กล่าวว่า จากนี้ไปจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดก่อน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะต้องใช้เวลาราว 3-4 เดือน
เมื่อ จันทจิรา เอี่ยมมยุราถามว่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิเสนอได้ ตามหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ วิสุทธิ์ตอบว่า ประเด็นนี้ต้องให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาไปพิจารณาดูก่อน
ภายหลังการส่งรายชื่อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เนื่องจากมาตรา 112 มีบทลงโทษที่รุนแรงและถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ถ้ารัฐบาลมีความกล้าหาญและมีจริยธรรมทางการเมือง กล้าผลักดันการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ สถาบันกษัตริย์ของไทยก็จะมีความมั่นคงดังเช่นในประเทศตะวันตก  
นอกจากนี้นายชาญวิทย์ยังมีความกังวลถึงความล่าช้าของกระบวนการตรวจสอบรายชื่อของรัฐสภา และกังวลว่า สส. สว. รวมทั้งรัฐบาลจะไม่กล้าแตะต้องกฎหมายอาญามาตรา 112 และวิงวอนนักการเมืองให้ใช้หลักวิชาการ อย่าใช้อคติในการพิจารณาเรื่องนี้ และมีความเป็นห่วงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะทำได้ทันกับสถานการณ์หรือไม่