จวกพ.ร.บ.แร่ใหม่ เปิดช่องปล้นทรัพยากร!

 

วันที่ 16 พฤษภาคม 2555   กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง ต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … ฉบับใหม่ ที่โรงแรมสยามรอยัล ซิตี้ ธนบุรี
ทั้งนี้ เดิมร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยแร่เคยถูกเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่มติที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 ให้ถอนร่างออกก่อนเพราะอาจมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชน เช่น การกำหนดว่าแร่เป็นทรัพยากรของรัฐ มีข้อบกพร่องเรื่องหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย คณะรัฐมนตรีจึงให้ถอนร่างออกไปทบทวนใหม่ และต่อมากพร.จึงว่างจ้างให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพัฒนาและยกร่างกฎหมายดังกล่าว
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่ ระบุว่า ร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่นี้ มีสาระสำคัญ คือ การกำหนด “เขตแหล่งแร่”  โดยกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดว่า พื้นที่ใดเป็นเขตแหล่งแร่ได้ก่อนกำหนดการสงวนหวงห้ามหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่
"มาตรา ๘๐ เพื่อประโยชน์แก่การบริหารจัดการแร่ด้านเศรษฐกิจของประเทศและการได้มาซึ่ง ทรัพยากรแร่อันมีค่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยคำแนะนำของคณะ กรรมการ และโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามหรือ ใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้ต้องเป็น พื้นที่ดังต่อไปนี้ 
(๑) มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง  
(๒) มิใช่พื้นที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องห้ามการเข้าประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ"
ที่มาภาพ slideshow bob
เลิศศักดิ์ ชี้ประเด็นว่า ประเด็นการกำหนดเขตแหล่งแร่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่แตกต่างจากกฎหมายแร่ฉบับเดิม โดยได้ตัดคำว่า “ที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” ออกไปจากพื้นที่ที่จะสามารถกำหนดเขตแหล่งแร่ได้ เท่ากับว่าไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตามถึงแม้จะเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำ ซับซึมก็สามารถนำแร่ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นมาประกาศเป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม ซี่งใน หลังจากประกาศเขตแหล่งแร่ตามมาตรา ๘๐ แล้ว ก็จะทำการประกาศให้เอกชนมาประมูลเขตแหล่งแร่เพื่อขอสัมปทานสำรวจและทำเหมือง แร่ต่อไปได้
เขากล่าวต่อว่า ในมาตรา ๘๒ ยังเปิดโอกาสให้เอกชนที่ชนะการประมูลสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ ป่าไม้ตามมาตรา ๘๐ ไม่ต้องขออนุญาตหรือสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ (อาชญาบัตรและประทานบัตร) ตามกฎหมายแร่ได้อีกด้วย นั่นคือ ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามที่กฎหมายสิ่งแวดล้อม และรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง กำหนดไว้  อีกทั้งในมาตรา ๘๑ ยังเปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนทำสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน และการทำเหมืองบางขนาดไม่ต้องขออนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ตามกฎหมาย แร่ได้ ขึ้นอยู่กับคนออกประกาศกระทรวง คือ รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการแร่ ที่สัดส่วนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกือบทั้งหมด 
            “มาตรา ๘๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๙ และมาตรา ๘๐ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศให้เขตแหล่งแร่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตประกอบการเหมืองแร่ 
             ภายในเขตประกอบการเหมืองแร่ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศกำหนดการประกอบธุรกิจแร่บางขนาดหรือบางชนิดที่ดำเนินการได้โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
            เพื่อประโยชน์ในการลดขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน หากการประกอบกิจการแร่หรือการประกอบธุรกิจแร่ใดภายในเขตประกอบการเหมืองแร่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นด้วย ให้ผู้ประกอบกิจการแร่หรือการประกอบธุรกิจแร่ยื่นคำขอต่ออธิบดี 
             เมื่ออธิบดีได้รับคำขอตามความในวรรคสาม ให้ส่งคำขอให้ยังหน่วยงานผู้อนุญาตตามกฎหมายอื่นและประสานงานให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายอื่นนั้นเพื่อร่วมกันพิจารณาการอนุญาตโดยเร็ว 
             ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้รัฐมนตรีหรืออธิบดีแล้วแต่กรณี เป็นผู้ใช้อำนาจในการอนุญาตแทนรัฐมนตรีหรืออธิบดีหรือผู้อนุญาตแล้วแต่กรณี ตามกฎหมายอื่นได้ภายในเขตประกอบการเหมืองแร่”
ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่เห็นว่า มาตรา ๘๒ ยังลดขั้นตอนการขออนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้อีกด้วย ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายแร่ ฉบับปี ๒๕๑๐ ที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน การเข้าไปขอสัมปทานแร่ในเขตพื้นที่ป่าไม้นั้น หากติดเงื่อนไขว่าพื้นที่ป่าอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ หรือบี ก็ห้ามนำเข้าใช้ประโยชน์หรือทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น หรือไม่เช่นนั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นราย ๆ ไป แต่มาตรา ๘๒ ในร่างกฎหมายนี้ สามารถนำแร่ในพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่หวงห้ามไว้ออกมาให้สัมปทานได้โดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีอีกต่อไป อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเช่นจากเดิมที่เคยระบุว่า พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำหวงห้ามบางภาค เช่น ภาคเหนือ ซึ่งมิให้ใช้ประโยชน์หรือทำกิจกรรมใดโดยเด็ดขาด สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้
 
ไฟล์แนบ