ร่วมลงชื่อ แก้ปัญหาควันไฟภาคเหนือ ต้องทำมากกว่าติดป้าย

ปัญหาหมอกควันมาเยือนภาคเหนือในช่วงฤดูแล้งของทุกๆ ปี ถ้าปีไหนมีฝนมาช่วยบรรเทาบ้างปัญหาก็จะไม่หนักหนามาก แต่หากปีไหนไม่มีฝนมาช่วยบรรเทาเลย ภาพหมอกควันปกคลุมเมืองใหญ่ๆ ทั้งเชียงใหม่ และลำพูน ก็จะปรากฏเป็นข่าวใหญ่ตามสื่อต่างๆ ประกอบกับตัวเลขผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ

 
ต้นปี 2555 เมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมด้วยหมอกควันอีกครั้ง โดยที่สาเหตุยังอาจถกเถียงกันได้ว่า อาจเกิดจากไฟป่า หรืออาจมาจากการจงใจเผาป่า เผาไร่ เผานา เผาขยะ เกิดจากควันรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม หรือเกิดจากสาเหตุใดเป็นสาเหตุหลัก 
 
แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือปัญหาหมอกควันในฤดูแล้งเกิดขึ้นซ้ำๆ กันทุกปี เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเห็นหน่วยงานของรัฐออกมาประกาศว่าจะแก้ไขด้วยหลากหลายวิธีจนเมื่อฝนมาปัญหาก็คลี่คลายไป และพอฤดูแล้งมาเยือนครั้งใหม่ ปัญหาที่มีระดับความรุนแรงไม่ต่างจากเดิมหรือมากขึ้นก็กลับมาอีกครั้ง ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเลือกที่ชัดเจนกว่าหรือยั่งยืนกว่า ในระยะยาว
 
Breathe Campaign เป็นการรวมตัวกันของคนในพื้นที่ภาคเหนือที่รณรงค์ให้หยุดการเผาและแก้ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย เพราะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ปัญหาหมอกควันอันเกิดจากการเผาได้  และเรียกร้องให้นำนโยบายที่จะช่วยควบคุมหรือลดปริมาณการเผา มาใช้อย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยไม่ได้เน้นนโยบายที่นำตัวผู้ก่อควันไฟมาลงโทษ แต่เน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของทั้งส่วนบุคคลและชุมชนที่มีต่อการเผาเพื่อหวังผลในระยะยาว
 
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมBreathe Campaign ออกจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนไปยังผู้เกี่ยวข้อง ความตอนหนึ่งในจดหมายระบุว่า
 
“จะเห็นได้ว่าสาเหตุในการก่อให้เกิดการ”เผา”อันส่งผลต่อการเกิดมลภาวะเป็นพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากทัศนคติที่มีต่อการจุดไฟ “เผา” ทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับหมอกควันในฤดูแล้งจึงควรแก้ที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่ที่มีต่อการ “เผา” ที่ไม่ใช่เพียงการตั้งป้ายรณรงค์หยุดเผาป่า ไว้ข้างถนน ในเขตป่า แต่ควรเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงผลกระทบอันเกิดจากการเผา ทั้งต่อสภาพแวดล้อม ต่อทัศนวิสัย หรือแม้แต่ต่อสุขภาพของพวกเขาเหล่านั้นเอง ซึ่งพบว่ายังไม่มีหน่วยงานใด ดำเนินการในลักษณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง”
 
Breathe Campaign เปิดให้ทุกคนร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้หยุดการเผา โดยตั้งเป้าว่าภายใน 1 เดือนจะนำรายชื่อทั้งหมดพร้อมกับจดหมายร้องเรียนไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
สำหรับผู้ที่สนใจลงชื่อร่วมกับ Breathe Campaign สามารถลงชื่อได้ทันที โดยคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของBreathe Campaign หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ที่หน้าเพจเฟซบุ๊คของ Breathe Campaign 
 
 
 
 

จดหมายร้องเรียน  

 
เรียน ท่านผู้เกี่ยวข้อง
เรื่อง ปัญหาหมอกควัน
 
วันที่  1 มีนาคม 2555
 
สืบเนื่องจากปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือของประเทศและส่งผลกระทบในหลายด้านแต่ที่เห็นเด่นชัด
 
ที่สุดคือปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทันทีที่มีปัญหาหมอกควันปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือ แม้ว่าปัญหาหมอกควันพิษอันเกิดจากไฟป่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่กลับไม่ได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง มีเพียงการแก้ปัญหาอันเกิดขึ้นแล้วเช่นการจัดตั้งหน่วยดับไฟป่า หรือการประกาศพื้นที่เฝ้าระวังไฟป่า ทั้งการพยายามจัดระดับความรุนแรงของไฟป่าและสุดท้ายกลายเป็นประเด็นถกเถียงในเรื่องงบประมาณการดับไฟป่า ซึ่งทั้งหลายทั้งมวลที่กล่าวมาแล้วนั้นกลับถูกลืมเลือนไปจนหมดสิ้นเมื่อเข้าฤดูฝน และกลับมาแก้ปัญหาอีกครั้งในปีต่อไปเมื่อเกิดภาวะหมอกควันปกคลุมในระดับอันตราย
 
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาที่ได้กระทำมาก่อนหน้าในแต่ละปีเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งที่ทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับการ “เผา” ยังคงเดิม ทั้งการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมเช่นการเผาซังข้างในท้องนา หรือที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือการเผากองเปลือกถั่วเหลืองที่พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว การเผาขยะในพื้นที่โล่งแจ้งซึ่งขยะในที่นี้หมายรวมถึงเศษใบไม้ ไม้ และขยะอันตรายเช่นพลาสติกหรือเคมีภัณฑ์ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษในอากาศอันส่งผลให้เกิดมะเร็งและปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 1 การเผาในลักษณะนี้พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในพื้นที่บ้าน พื้นที่สาธารณะเช่นในวัด ค่ายทหาร หรือแม้แต่บริเวณข้างถนน ทั้งในเขตเมืองและเขตป่า และในหลายกรณีพบว่าการเผาในพื้นที่ป่าหาใช่เกิดเพราะความเลินเล่อหรือประมาทแต่เกิดโดยความตั้งใจของคนบางกลุ่มเช่นการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ในการตัดและขนไม้จากป่า เผาเพื่ออ้างเหตุในการขยายที่ทำกินและเผาเพราะความเชื่อที่ว่าจะทำให้มีปริมาณของเห็ดที่มีราคาสูงเช่นเห็ดนางและเห็ดเผาะมีปริมาณมากขึ้นในฤดูฝน จะเห็นได้ว่าสาเหตุในการก่อให้เกิดการ”เผา”อันส่งผลต่อการเกิดมลภาวะเป็นพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากทัศนคติที่มีต่อการจุดไฟ “เผา” ทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับหมอกควันในฤดูแล้งจึงควรแก้ที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่ที่มีต่อการ “เผา” ที่ไม่ใช่เพียงการตั้งป้ายรณรงค์หยุดเผาป่า ไว้ข้างถนน ในเขตป่า แต่ควรเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงผลกระทบอันเกิดจากการเผา ทั้งต่อสภาพแวดล้อม ต่อทัศนวิสัย หรือแม้แต่ต่อสุขภาพของพวกเขาเหล่านั้นเอง ซึ่งพบว่ายังไม่มีหน่วยงานใด ดำเนินการในลักษณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เหล่านี้จึงน่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ยั่งยืน และสามารถลดปริมาณการเผาที่ไม่ใช่เพียงในพื้นที่ป่าแต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการ “เผา” ในชีวิตประจำวัน จากระดับชุมชนถึงระดับครัวเรือน
 
ข้าพเจ้ามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าวิธีการแก้ปัญหาดังได้กล่าวมานี้ มีการคิดและพยายามปฏิบัติใช้โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว หากถึงปัจจุบันกลับไม่สามารถทำให้ปัญหาลดลงแต่กลับทวีความรุนแรงขึ้น นั่นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาด้วยการปฏิบัติเดิมๆจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้การออกกฏหรือเงื่อนไขข้อบังคับที่มีความชัดเจน จริงจัง และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง?
 
จริงอยู่ที่ปัญหาหมอกควันอาจจะเป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาไม่นานในแต่ละปี แต่ปัญหาที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้น(ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดจากมนุษย์และควบคุมได้) ส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ หมายรวมถึงตัวข้าพเจ้าและท่าน ในด้านสุขภาพ ในระดับจังหวัดย่อมสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในการลดปัญหานี้ หรือในระดับประเทศที่ส่งผลอย่างยิ่งในด้านภาพลักษณ์เมื่อหลายประเทศนำเสนอภาพหมอกควันปกคลุมของภาคเหนือของประเทศไทยอันเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 2 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเตือนถึงอันตรายในการเข้าพักในพื้นที่ และในระดับโลกนั้นแม้ว่าหมอกควันจากการเผาไหม้ในช่วงเวลาไม่นานจะไม่สามารถก่อให้เกิดช่องโหว่ในชั้นบรรยากาศได้ แต่พฤติกรรมการ”เผา” ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงย่อมก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกต่อไป ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการ “เผา” จึงควรได้รับความสนใจและดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่นกันกับปัญหาหมอกควันที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
 
ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของผู้ที่ประสบปัญหาจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจดหมายฉบับนี้จะไม่ถูกละเลย และส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุง ยุทธวิธีในการจัดการปัญหาอันจะเป็นการแก้ไขจากต้นตอคือเรื่องระบบคิดหาใช่เพียงการแก้ไขภายหลังจากมีการ ”เผา”หรือ “ไฟ” ถูกจุดขึ้นแล้ว และจะเป็นการจัดการปัญหาที่ต่อเนื่องเช่นเดียวกับการดำเนินการของกลุ่มของข้าพเจ้าในการรณรงค์ในการลดปัญหานี้ผ่านทางเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ จดหมายฉบับจึงเป็นเสมือนการร้องเรียนปัญหา ขอความร่วมมือ และส่งต่อความความคาดหวังต่อรัฐในการแก้ไขปัญหา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ตัวแทนผู้ประสบปัญหา
 
สำเนาถึง:
ผู้ว่าราชการจังหวัด แม่ฮ่องสอน
ผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่
ผู้ว่าราชการจังหวัด ลำปาง
ผู้ว่าราชการจังหวัด แพร่
ผู้ว่าราชการจังหวัด น่าน
ผู้ว่าราชการจังหวัด ลำพูน
ผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงราย
ผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงราย
ผู้ว่าราชการจังหวัด ตาก
ผู้ว่าราชการจังหวัด พะเยา
นายก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS

 

“ยิ่งมีคนร่วมลงชื่อกันมาก เสียงของเราก็จะยิ่งมีพลัง” 
– ข้อความส่วนหนึ่งของหน้าเว็บไซต์ Breathe Campaign