ยื่นหมื่นชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว

 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ชาวบ้านจากหลายพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 200 คน รวมตัวกันบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาเพื่อยื่นรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อกันเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฉบับภาคประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว
นายสุพจน์ ส่งเสียง จากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อำเภอบางสะพาน กล่าวปราศรัยว่า ตอนนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ จะปล่อยให้รัฐกับนายทุนร่วมกันเขียนกฎหมายอีกต่อไปไม่ได้ จึงต้องลุกขึ้นมาเขียนกฎหมายกันเอง ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นสิ่งเดียวในตอนนี้ที่ชาวบ้านจะยึดถือเพื่อปกป้องสุขภาพของตนเองได้
เวลาประมาณ 9.00 น. ตัวแทนชาวบ้านประมาณ 20 คนและตัวแทนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ได้แก่ นางสุนทรี เซ่งกิ่ง นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นายวีรวัฒน์ ธีรประสาธน์ ฯลฯ เข้าไปในบริเวณอาคารรัฐสภา พร้อมด้วยรายชื่อประชาชนทั้งหมด 11,219 รายชื่อ ที่รวบรวมมาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อยื่นรายชื่อทั้งหมดและร่างกฎหมายให้รัฐสภานำไปพิจารณา
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เดินทางมารับมอบรายชื่อประชาชนจากตัวแทนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เขากล่าวว่า ทางสภาได้รับแล้วและจะรีบตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย แนวปฏิบัติเดิมจะใช้เวลา 90 วัน แต่ตนจะพยายามลดระยะเวลาให้เหลือ 45 วัน เพราะใกล้จะปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติแล้วกลัวจะไม่ทัน และเรายังมีเรื่องค้างคาการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่
นายเจริญแนะนำกับตัวแทนผู้เสนอกฎหมายด้วยว่า ถ้าอยากให้การผลักดันข้อเสนอเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วน่าจะใช้วิธีติดต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 20 คนเพื่อให้เสนอกฎหมายให้ วิธีการนี้จะช่วยให้เร็วขึ้น เรื่องก็จะมาที่ประธานสภาเลย ซึ่งนายเจริญจะลองปรึกษาดูว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านไหนสนใจเรื่องนี้บ้าง 
นางสุนทรี กล่าวว่า มีเรื่องต้องกังวลเพราะหากใช้ช่องทางเช่นนั้น ก็จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน และจะต่างกับการเสนอรายชื่อหนึ่งหมื่นชื่อที่ตัวแทนประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจะได้เป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายจำนวนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด
นายเจริญตอบว่าการจะได้พิจารณาเร็วหรือช้าอยู่ที่วิปรัฐบาลที่ต้องทำให้วาระเข้าสู่การพิจารณาก่อนและเมื่อเข้าไปแล้วในชั้นการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการก็ยังสามารถให้คนภายนอกเข้าไปเป็นกรรมาธิการได้ ตัวอย่างเช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ…. (พ.ร.บ. กสทช.) ก็มีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการ แต่ถ้าจะใช้วิธีการนี้ก็จะใช้เวลา 90 วัน
นางสุนทรีกล่าวว่า หากในขั้นตอนของทางสภาเห็นว่าควรใช้วิธีการใด ก็เรียนเชิญ แต่ทางภาคประชาชนได้เลือกแล้วว่าควรใช้วิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน
นายวีรวัฒน์ ธีรประสาธน์ หนึ่งในตัวแทนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ถ้านับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับ2540 เป็นต้นมา ก็ 15 ปีแล้วที่กฎหมายฉบับนี้ยังค้างอยู่ กฎหมายฉบับนี้ควรจะไปสู่การพิจารณาโดยเร็วที่สุด เพราะเคยเข้าไปถึงขั้นตอนของวุฒิสภาแล้วแต่รัฐบาลชุดใหม่ไม่รับรอง จึงขอฝากให้เร่งรัดด้วย
นอกจากนี้ ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้โอกาสนี้ยื่นหนังสือต่อนายเจริญ จรรย์โกมล เพื่อขอให้ดำเนินการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 25 ในพื้นที่อำเภอบางสะพานกับนายทุนที่มาบุกรุกพื้นที่ป่าด้วย นายเจริญได้ลงนามรับหนังสือต่อหน้าทุกคนในที่นั้นด้วย
อนึ่ง ความพยายามจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้มีองค์กรลักษณะดังกล่าวขึ้นมาทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบก่อนการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ด้วยความพยายามผลักดันจากภาคส่วนต่างๆ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเคยถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาสมัยที่แล้ว และผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไปสู่ชั้นการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว แต่เนื่องจากมีการประกาศยุบสภาเสียก่อนในปี 2554 และรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ร้องขอให้นำกฎหมายฉบับนี้กลับมาพิจารณาต่อ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป ภาคประชาชนจึงต้องใช้วิธีการเข้าชื่อกันให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อเพื่อเสนอกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง