วธ.เสนอแก้พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เพิ่มอำนาจผบ.ตร. สั่ง “ห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่” ได้ทันที

*ล่าสุด* เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาทำความเห็นกลับมาว่า เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับนี้ อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงให้กระทรวงวัฒนธรรมนำกลับไปพิจารณาใหม่

 

ปรับแก้ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2554 เวลา 18.27 น.

ครม.ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ให้อำนาจให้ผบ.ตร. สั่ง ห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ ห้ามนำเข้าได้มีผลทันทีไม่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากพบสิ่งพิมพ์หมิ่นสถาบัน กระทบความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และกระทบศีลธรรมอันดี เตรียมผุด “เรตติ้ง” สิ่งพิมพ์ฟันสื่อรุนแรง-ลามกอนาจาร

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

 

   

    นิยามของสื่อสิ่งพิมพ์ตามที่กำหนดในกฎหมาย:

    “สิ่งพิมพ์” หมายความว่า สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา

    “หนังสือพิมพ์” หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทำนองเดียวกัน

 

ข้อเสนอเพื่อแก้ไขร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มีทั้งสิ้น 7 ประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง กำหนดให้สิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ ต้องแสดงข้อความระบุประเภทของสิ่งพิมพ์ โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดประเภทสิ่งพิมพ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ กระทรวง (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)

ข้อกำหนดให้แสดงข้อความระบุประเภทของสิ่งพิมพ์ไม่เคยมีมาก่อน ิเพราะพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดเรื่องการจัดประเภทสิ่งพิมพ์ไว้เลย ข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการเสนอหลักการจัดระเบียนสิ่งพิมพ์แบบใหม่ที่ ยังไม่เคยมีมาก่อน คือ เสนอการจัดประเภทสิ่งพิมพ์ หรือ เรตติ้งนั่นเอง และยังกำหนดให้สิ่งพิมพ์ที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ต้องแสดงประเภทของสิ่งพิมพ์ ให้ปรากฏด้วย

กรณีการจัดประเภทสิ่งพิมพ์นี้ อาจเปรียบเทียบได้กับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดการจัดประเภทภาพยนตร์ หรือ จัดเรตติ้งภาพยนตร์ และผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายภาพยนตร์ต้องแสดงประเภทภาพยนตร์ที่ได้รับอนุญาตไว้ บนหีบห่อบรรจุภาพยนตร์ด้วย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยรัฐระบุเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเพิ่มการระดับความเหมาะสมของสื่อสิ่งพิมพ์หรือประเภทของ สื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า เนื้อหา ข้อความ หรือภาพ ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร มีความไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชน มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงและโหดร้าย ลามกอนาจาร ที่สำคัญเป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลียนแบบ ดังนั้น การกำหนดเรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์ น่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้บ้าง

ประเด็นที่สอง กำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 และร่างมาตรา 12 เพิ่มมาตรา 18/1)

ร่าง มาตรา ๑๐ "ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติมีอํานาจออกคําสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยพร่ สั่งเข้า หรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาด ร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกําหนดเวลาห้ามไว้ในคําสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้

การออกคําสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นําข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมื่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย

สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย”

ทั้งนี้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้อยู่แล้วว่า ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจสั่งห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระ มหากษัตริย์ฯ ได้อยู่แล้ว แต่ฉบับร่างที่เสนอแก้ไขได้เพิ่มอำนาจให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินอกจาก จะมีอำนาจสั่งห้ามสั่งเข้า หรือนำเข้าและ ยังให้มีอำนาจสั่ง "ห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่" ได้ด้วย และการสั่งนี้ ได้ตัดขั้นตอนที่ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกไป ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งได้ทันที

ข้อสังเกตคือ การพิจารณาว่าข้อความในสิ่งพิมพ์ใดจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือ ไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องใช้การตีความเข้ามาประกอบ ดังนั้น ตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีที่ให้อำนาจแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการสั่ง ห้ามพิมพ์หรือห้ามเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีการตรวจ สอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ เท่ากับเป็นการให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนแก่บุคคลเพียงคนเดียว ต่างกับการปิดกั้นสื่อชนิดอื่น เช่น เว็บไซต์ที่ตามกฎหมายต้องอาศัยคำสั่งศาล หรือการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ที่ต้องพิจารณาโดยคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจาก ผู้เกี่ยวข้องหลายสาขาอาชีพ

นอกจากนี้ การที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการปิดกั้นสื่อชนิดต่างๆ โดยใช้คำที่มีความหมายกว้าง ไม่เฉพาะเจาะจง และต้องอาศัยการตีความที่อาจจะคิดเห็นได้แตกต่างกัน เช่น คำว่า "ความสงบเรียบร้อย" หรือคำว่า "ศีลธรรมอันดี" ก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ ที่อาจกระทบกับสิทธิเสรีภาพ เพราะประชาชนไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดที่ทำแล้วจะผิดกฎหมาย เช่น เงื่อนไขการปิดกั้นเว็บไซต์ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ เงื่อนไขการสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 แต่ตามร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับนี้ก็ยังกำหนดเงื่อนไขให้ผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งปิดกั้นสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยเงื่อนไขเช่นเดียว กันนี้อีก

 

ที่มาภาพ: wikimedia

 

ประเด็นที่สาม กำหนดให้ผู้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องดำเนินการออกหนังสือพิมพ์ภายในหกสิบวันเมื่อได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์แล้ว และกำหนดอายุของหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ (ร่างมาตรา 6 เพิ่มมาตรา 11/1 และเพิ่มมาตรา 11/2)

หนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ คือเอกสารที่รัฐออกให้แก่ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์ว่าได้จดทะเบียนการพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ในพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีกำหนดไว้ว่าจะต้องออกหนังสือพิมพ์ภายในกี่วันนับแต่ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ และไม่มีกำหนดอายุของเอกสารนี้

เพราะฉะนั้น การที่ร่างฉบับ คณะรัฐมนตรีมีข้อเสนอให้ผู้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องดำเนินการออกหนังสือพิมพ์ภายในหกสิบวันเมื่อได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์แล้ว และกำหนดอายุของหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ แสดงว่ามีเจตนาที่จะควบคุมดูแลผู้จดทะเบียนการพิมพ์หนังสือพิมพ์ให้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนไว้แล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์จริง และหากมีการกำหนดอายุของหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ก็แน่นอนว่าต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการต่ออายุหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ตามมาด้วย

ประเด็นที่สี่ กำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องแสดงข้อความประเภทของหนังสือพิมพ์และเลขมาตรฐานสากลประจำวารสารที่หอสมุดแห่งชาติออกให้และกำหนดให้ผู้พิมพ์ต้องส่งหนังสือพิมพ์จำนวนสองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติ (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 และร่างมาตรา 9 เพิ่มมาตรา 12/1)

ตามมาตรา 12 ของพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับปัจจุบัน ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์มีหน้าที่แสดงข้อความเพียงชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา ชื่อของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และชื่อและที่ตั้งของเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ เท่านั้น ยังไม่มีหน้าที่ต้องแสดงข้อความประเภทของหนังสือพิมพ์และเลขมาตรฐานสากลประจำวารสารที่หอสมุดแห่งชาติออกให้ หรือ ส่งหนังสือพิมพ์จำนวนสองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติ

แต่ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับปัจจุบัน ผู้พิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นๆ เช่น หนังสือ ที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ มีหน้าที่ต้องแสดงเลขมาตรฐานสากลประจำวารสารที่หอสมุดแห่งชาติออกให้ไว้ด้วยอยู่แล้ว และมีหน้าที่ต้องส่งสิ่งพิมพ์ให้หอสมุดแห่งชาติจำนวนสองฉบับด้วย

ตามร่างฉบับคณะรัฐมนตรี เป็นการกำหนดให้ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์มีภาระหน้าที่เช่นเดียวกับผู้พิมพ์สิ่งพิมพ์อื่น และเป็นการกำหนดให้ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ประเด็นที่ห้า กำหนดลักษณะของชื่อหนังสือพิมพ์จะต้องไม่ซ้ำกับชื่อของหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นตัวย่อ รวมทั้งต้องไม่ซ้ำกับชื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับจดแจ้งไว้แล้วหรือชื่อหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์ในต่างประเทศ (ร่างมาตรา 10 – ร่างมาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13)

ตามมาตรา 13 ของพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับปัจจุบัน กำหนดว่า ชื่อของหนังสือพิมพ์ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อพระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์ ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของบุพการีหรือของผู้สืบสันดาน ไม่ซ้ำกับชื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับจดแจ้งไว้แล้ว ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

ตามร่างฉบับคณะรัฐมนตรีเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับชื่อของหนังสือพิมพ์ว่าต้องไม่ซ้ำกับชื่อของหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นตัวย่อด้วย ส่วนการกำหนดว่าชื่อของหนังสือพิมพ์ต้องไม่ซ้ำกับชื่อหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์ในต่างประเทศ แม้พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์จะไม่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้แต่หากมีผู้ใช้ชื่อลักษณะนี้ก็อาจผิดกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือทรัพย์สินทางปัญญาได้

ประเด็นที่หก กำหนดโทษทางปกครองแก่ผู้พิมพ์ที่ไม่ส่งหนังสือพิมพ์ให้หอสมุดแห่งชาติภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19)

เนื่องจากตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับปัจจุบัน ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์ยังไม่มีหน้าที่ต้องส่งหนังสือพิมพ์ให้หอสมุดแห่งชาติ การไม่ปฏิบัติตามหน้าที่นี้จึงยังไม่มีการกำหนดโทษไว้ แต่หากจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ให้ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์มีหน้าที่ดังกล่าวก็ย่อมต้องมีการแก้ไขในส่วนของบทกำหนดโทษให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมีโทษด้วย เพื่อให้กฎหมายเกิดสภาพบังคับขึ้น

ซึ่งตามร่างฉบับคณะรัฐมนตรี หากพิมพ์หนังสือพิมพ์ฝ่าฝืนไม่ส่งหนังสือพิมพ์ให้แก่หอสมุดแห่งชาติภายใน 30 วัน นับแต่เผยแพร่ มีโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นโทษเช่นเีดียวกับกรณีผู้พิมพ์หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์อื่นฝ่าฝืนหน้าที่นี้

ประเด็นที่เจ็ด กำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27)

ตามมาตรา 27 ของพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับปัจจุบัน หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สั่งห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี ที่จะให้เพิ่มโทษสำหรับความผิดดังกล่าว เป็นการเพิ่มโทษปรับ จากหกหมื่นบาท เป็นหนึ่งแสนบาท ส่วนโทษจำคุกคงเท่าเดิม

ข้อสังเกต แม้พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์จะกำหนดให้ความผิดลักษณะดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี แต่หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สั่งห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้นั้นย่อมมีโอกาสที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสามถึงสิบห้าปี

 

 

 

ไฟล์แนบ