ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ความหวังของประชาชน

ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างเชื่อมโยงกันด้วยระบบข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้การค้าการลงทุน กระทั่งความร่วมมือด้านต่างๆ ในระดับระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อำนาจอธิปไตยภายในของแต่ละชาติบนเวทีโลกจึงค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลงโดยอิทธิพลจากกระแสแห่งยุคสมัยที่รู้จักกันดีในนามของ “โลกาภิวัตน์”

ลักษณะเช่นนี้เอื้อต่อการถูกบีบกดของประชาชนตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐชาติ ให้สูญเสียผลประโยชน์จากการตกลงผูกมัดตามข้อสัญญาที่รัฐเป็นภาคีร่วมกับรัฐอื่น ด้วยเหตุที่กระแสโลกาภิวัตน์นำไปสู่การเติบโตของระบบทุนนิยมอันเป็นระบบเศรษฐกิจที่คู่ขนานมากับยุคสมัยดังกล่าวในแง่ที่ว่า ความล่อตาล่อใจของผลกำไรจากระบบทุนนิยมก่อให้เกิดปัญหาการแสวงผลประโยชน์ของนายทุนระดับสูงรวมถึงชนชั้นนำทางการเมืองซึ่งมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐ จุดนี้นำไปสู่การผูกพันทำสัญญาระหว่างประเทศกับรัฐอื่นโดยปราศจากการคำนึงถึงประชาชนโดยรวมที่ยังอยู่ในสภาวะยากจน หรือตกเป็นเหยื่อของระบบในสภาวะที่ไม่อาจเข้าถึงการพัฒนาอย่างแท้จริง อาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญของประชาชนถูกลดลงทั้งที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐชาติ ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจอธิปไตยที่ลดน้อยลงส่งผลให้ความเป็นชาตินิยมของผู้มีอำนาจในรัฐลดลงด้วย
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 มีสาระสำคัญอย่างชัดเจนว่า ก่อนการดำเนินการกระทำสัญญาอันมีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงต่ออาณาเขต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือมีผลผูกพันอย่างมีนัยสำคัญด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

และในมาตรา 190 วรรค 5 กำหนดว่า ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบในลักษณะเช่นที่อ้างไว้ข้างต้น รวมถึงการแก้ไขเยียวยาอย่างเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการทำสัญญาระหว่างประเทศ

หากมีกฎหมายลูกที่ชื่อ “พระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. …” ตามมาตรา 190 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ย่อมเป็นผลดีต่อการสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชน อันเป็นส่วนย่อยที่สำคัญที่สุดของรัฐ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ (FTA Watch) จึงเริ่มผลักดันให้เกิดกฎหมายดังกล่าว ในต้นปี 2551 ด้วยการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นคือ นายนพดล ปัทมะ และจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนมาเข้าชื่อกันให้ครบ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย

เนื้อหาอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในร่าง พ.ร.บ. การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. …โดยสรุป มีดังนี้

1.    เวทีเจรจาจะเปิดกว้างต่อหลายฝ่าย มาตรา 6 กำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานการเจรจาการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน ที่มีความรู้ความสามารถ นอกจากนี้ยังระบุไว้นมาตรา 17 ว่า ในการเจรจาต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน ร่วมเจรจา และในวรรค 2 มาตรา 17 ยังกำหนดให้มีผู้สังเกตการณ์จากนักวิชาการ ภาคประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียในระหว่างที่มีการเจรจา

2.    การศึกษาและวิจัยผลกระทบต้องรอบด้านมากขึ้น โดยมาตรา 18 กำหนดว่าจะต้องมีการจัดทำวิจัยศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยทำหน้าที่ศึกษาวิจัยอย่างเป็นกลางและรอบด้าน นอกจากนี้ในวรรค 4 ยังกำหนดให้มีการจัดทำรายงานผลการศึกษาวิจัยต่อผู้มีส่วนได้เสีย และกลุ่มประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยต้องปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล

3.    กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นอิสระและน่าเชื่อถือ ใน มาตรา 20 กำหนดให้การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องจัดทำอย่างน้อย 2 ขั้นตอน คือ (1) จัดขึ้นก่อนการชี้แจงวัตถุประสงค์ กรอบและประเด็นการเจรจาของรัฐบาล (2) จัดขึ้นภายหลังที่มีการเจรจาหรือภายหลังการลงนาม โดยให้เป็นความเห็นต่อร่างหนังสือสัญญา นอกจากนั้น มาตรา 29 ยังกำหนดให้ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” เป็นองค์กรกลางในการทำหน้าที่จัดทำกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชน

4.    ความโปร่งใสมากขึ้น มาตรา 34 กำหนดว่า ให้มีการจัดส่งเอกสารทางการที่ออกโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบการเจรจาและที่หน่วยงานดังกล่าวได้รับจากคู่เจรจาทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือสัญญา ไปจัดเก็บและเปิดเผยเพื่อสามารถให้มีการสืบค้นโดยผู้สนใจได้

เดือนมีนาคม ปี 2552 ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. … ถูกยื่นต่อรัฐสภาโดยประชาชน 10,378 คน เข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย แต่ถูกประธานรัฐสภาในสมัยนั้น วินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ. นี้ไม่ใช่กฎหมายในหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย หรือ หมวด 5 เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาได้

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2552 ทาง เอฟทีเอว็อทช์ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ฟ้องว่านายชัย ชิดชอบ และนายพิทูร พุ่มหิรัญ ประธานรัฐสภาและเลขาธิการสภาผู้แสนราษฎร ไม่รับร่าง พ.ร.บ. ที่มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,378 รายชื่อ ร่วมเข้าชื่อเสนอ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขณะนี้คดียังอยู่ในขั้นตอนของศาลปกครอง

 

ที่มา creativecommons