เกาะสถานการณ์ มาตรา112 เสรีภาพบนเส้นด้าย

ในบรรดาเกือบ 200 ไอเดีย บนหน้า “คิด” ที่เว็บไซต์ไอลอว์เปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกันแบ่งปันไอเดีย เสนอ แก้ไข หรือ ยกเลิกกฎหมาย ข้อเสนอที่มีสถิติผู้เข้าเยี่ยมชม และแสดงความคิดเห็นสูงที่สุด คือ ข้อเสนอของผู้ใช้ชื่อ “ลูกอัยการ” ที่เสนอให้ “ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือกฎหมายอาญามาตรา 112

ขณะที่โพล “เกาะกระแส” ของไอลอว์กับคำถามที่ว่า คิดเห็นอย่างไรกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (กม.ห้ามหมิ่นกษัตริย์ฯ) และหากคุณเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ อยากให้แก้ไขอย่างไร ก็มีชาวเน็ตมาร่วมออกเสียงอย่างคับคั่งเช่นกัน ซึ่งผลการสำรวจพบว่าผู้ร่วมแสดงความเห็น 76 และ64 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา112 ทั้งมาตรา สะท้อนให้เห็นกระแสความสนใจเรื่องการแก้ไขกฎหมายของประชาชนได้เป็นอย่างดี

ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง กฎหมายอาญามาตรา112 มีฐานะเป็นข้อกล่าวหาที่หนักหนาที่สุดในสังคมไทย อีกทั้งยังถูกตีความและบังคับใช้อย่างกว้างขวาง มีการข่มขู่และฟ้องร้องเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามมากกว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายที่มุ่งปกป้องพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แกนนำทั้งฝ่ายเสื้อแดง และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกกล่าวหาด้วยมาตรานี้ มีการกล่าวหาและจับกุมประชาชนจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้คนอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวที่จะแสดงออกซึ่งความเห็น

 

ย้อนหลังไป 2-3 ปี ก่อนที่ความขัดแย้งทางการเมืองจะเดินมาถึงวันนี้ เคยมีกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกและมาตรา 112 อยู่บ้าง เช่น ใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เคยระดมรายชื่อประชาชนได้พันกว่ารายชื่อ  ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เคยรวบรวมรายชื่อนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้กว่า 50 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะท่าทีจาก สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ตอบโต้ค่อนข้างรุนแรง

มาถึงพ.ศ.นี้ ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย มีนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 อย่างหนักแน่น คือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พร้อมกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 8 ข้อ แต่ล่าสุด อ.สมศักดิ์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วย

เดิม การพูดเรื่องปัญหาในมาตรา 112 จำกัดอยู่แค่กลุ่มนักวิชาการเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในพื้นที่สื่อและในทางสาธารณะ คำว่า "มาตรา 112" ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่สิ่งที่ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและได้ยินเรื่องมาตรา 112 ได้มากที่สุด กลับเป็นเหตุการณ์จริงที่ จำนวนคดีการกล่าวหา และฟ้องร้องเพิ่มจำนวน ขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ

นักกิจกรรมส่วนหนึ่ง ทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการใช้บังคับกฎหมายมาตรา 112 ให้สังคมมีพื้นที่สำหรับการพูดคุย เรื่องนี้ได้สะดวกขึ้น โดยไม่ได้มีเป้าหมายให้แก้ไข หรือ ยกเลิก แต่อย่างใด ภายใต้ชื่อ อาร์ติเคิล 112 : การรณรงค์เพื่อความตื่นรู้ ในกฎหมายหมิ่นฯ หรือ Article112 : awareness campaign

ล่าสุด เครือข่ายประชาธิปไตย ที่มีมวลชนเสื้อแดงเป็นฐาน สามารถล่ารายชื่อได้ครบ 10,000 ชื่อแล้ว เพื่อเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่มีหลักการสั้นๆ คือ ให้ยกเลิกมาตรา 112 นี้

นอกจากข้อเสนอให้ยกเลิกแล้ว ฝ่ายที่เสนอให้แก้ไข อย่างนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อย่างกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ประกาศข้อเสนอ 7 ข้อ เพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 โดยเสนอให้ย้ายมาตรา112 ไปอยู่ในหมวดเฉพาะ ลดอัตราโทษเหลือจำคุกไม่เกินสามปี เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด และให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น ซึ่งได้เขียนหลักการเหล่านี้ออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาออกมา เพื่อให้สังคมนำไปถกเถียงช่วยกันคิดต่อ

 

สอดคล้องกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, พวงทอง ภวัครพันธุ์ ฯลฯ ที่ออกแถลงการณ์ ถึงเวลาแก้ไขม.112:ข้อเรียกร้องต่อบรรดาพรรคการเมือง ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของมาตรา112 กับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และเปิดให้คนมาร่วใลงชื่อด้วย

นอกจากนักวิชาการแล้ว เครือข่ายนักเขียน นำโดย บินหลา สันกาลาคีรี ปราบดา หยุ่น ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ซะการีย์ยา อมตยา กิตติพล สรัคคานนท์ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ วาด รวี ก็ร่วมแสดงออก โดยการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียน เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

หลังจากกลุ่มนักเขีัยนออกมาเคลื่อนไหว คณะพลเมืองไทยรักชาติเคลื่อนไหวโดยการยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดี กับกลุ่มนักเขียนและผู้ที่ล่วงละเมิดสถาบัน ต่อมา มีกลุ่มนักอ่าน รวมตัวกันทางอินเทอร์เน็ต ออกแถลงการณ์นักอ่าน: เราต้องการเสรีภาพในการอ่าน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพที่จะได้อ่านและวนับวนุนกลุ่มนักเขียน และเปิดให้นักอ่านทุกคนร่วมลงชื่อทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

 

            

ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่เห็นได้ชัดเจน ปรากฏในอีกพื้นที่หนึ่ง คือ เฟซบุ๊ค ซึ่งมีการทำเข็มกลัดรณรงค์ ไม่เอามาตรา 112 ออกมาหลายรูปแบบ และมีผู้ใช้เฟซบุ๊คร่วมติดเข็มกลัดรณรงค์กันจำนวนมาก ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายมาตรา 112 ให้คงอยู่ต่อไป โดยไม่ต้องแก้ไขก็มีเข็มกลัดออกมารณรงค์สวนทาง ซึ่งก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน

นอกจากเข็มกลัดแล้ว ที่เห็นได้ชัดคือ การเกิดขึ้นของเฟซบุ๊ครณรงค์ ที่เป็นหน้าแฟนเพจเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นหลากหลายมาก เช่น มั่นใจว่ามากกว่า 1 ล้านคนไม่เอา 112  NO! 112  เราต้องการทำประชาพิจารณ์“กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”(ม.112)  ทำดีเพื่อการยกเลิก ม.112  ยกเลิก กฎหมายหมิ่นฯ ม. 112 – ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ฯลฯ หรือที่เป็นกลุ่มรณรงค์ เช่น ปลดแอก112 จุดเริ่มต้นสังคมใหม่  กลุ่มแนวร่วมรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ฯลฯ ขณะที่กลุ่มผู้ไม่ต้องการยกเลิกก็มีหน้าแฟนเพจของตัวเองเช่นเดียวกัน คือ คนไทยรวมพลังปกป้อง กม.อาญา มาตรา 112

จากความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นได้ว่า ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้านต่างตื่นตัว และให้ความสนใจกับกฎหมายอาญามาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตคือ สังคมไทยไม่สามารถหยุดหรือเงียบกับกฎหมายว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ได้อย่างที่เคยเป็น แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ต้องยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างเปิดเผย การแช่แข็งหลักการอะไรบางอย่างไว้ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะประจำชนชาติ มีแต่จะยิ่งเป็นผลเสียต่อเรื่องที่อ่อนไหวที่สุดในสังคม

อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่สังคมได้รับจากการถกเถียงแลกเปลี่ยน คือ ได้แสดงให้เห็นว่าการพูดคุยเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนพึงตั้งคำถามต่อกฎหมายที่เห็นว่ากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตน เช่นเดียวกับการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับอื่นๆ และการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 เสียเอง

 

 

"หากคุณเป็นบล็อกเกอร์ หรือผู้ดูแลเว็บไซต์ สามารถเลือกแบนเนอร์ที่ต้องการ copy code html ในกล่องไปวางไว้ในเว็บได้เลย"

  • ป้ายแบบที่ 1 – ขนาด 486×60 พิกเซล
  • ป้ายแบบที่ 2 – ขนาด 234×60 พิกเซล
  • ป้ายแบบที่ 3 – ขนาด 180×150 พิกเซล